ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ และคณะ

ชื่อเรื่อง/Title: การพัฒนาระบบบริการด้านสุขภาพจิตและจิตเวชในศูนย์สุขภาพชุมชนและสถานบริการสาธารณสุขทุกระดับในจังหวัดนนทบุรี

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 13, 25-27 สิงหาคม 2547, ณ โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ กรุงเทพฯ, หน้า 162-164

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุ ศูนย์สุขภาพชุมชน เป็นบริการขั้นต้นของระบบบริการสุขภาพ เหตุที่ต้องมีการปฏิรูปเพื่อให้มีลักษณะบริการเชิงรุกในการสร้างเสริมสุขภาพที่ดีสำหรับคนไทย และเป็นบริการใกล้บ้านใกล้ใจประชาชน อีกทั้งเป็นสถานบริการด่านแรกที่มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชนจนเป็นสื่อในการนำความรู้ และบริการไปสู่ชุมชน ศูนย์สุขภาพชุมชนเป็นบริการสุขภาพในระดับปฐมภูมิที่ให้บริการในลักษณะบูรณาการทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต อีกทั้งมีการผสมผสานกิจกรรมด้านการรักษาพยาบาล การส่งเสริมสุขภาพ การควบคุมการป้องกันโรค เป็นการให้บริการแบบองค์รวม ในส่วนของงานบริการด้านสุขภาพจิตและจิตเวช พบว่าประชาชนนิยมมาใช้บริการในโรงพยาบาลเฉพาะทางจิตเวชเป็นจำนวนมาก เนื่องจากมีแพทย์เฉพาะทาง รวมถึงมีการดูแลที่มีประสบการณ์มากกว่า และจากการศึกษาของกลุ่มงานวิชาการสุขภาพจิตเขต 11 พบว่าครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยนอก สามารถที่จะให้การรักษาในโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป โดยแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปได้ ดังนั้นกรมสุขภาพจิต จึงได้มีการดำเนินการพัฒนารูปแบบบริการทางสุขภาพจิตและจิตเวชในชุมชนอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยพยายามผลักดันให้ทุกหน่วยบริการสาธารณสุข ตั้งแต่ระดับโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชนจนถึงสถานีอนามัย มีการผสมผสานบริการสุขภาพจิตและจิตเวชเข้าไปในบริการทางด้านสุขภาพจิตและจิตเวช เป็นโรงพยาบาลที่ให้บริการสุขภาพจิตและจิตเวชในระดับตติยภูมิ ที่มีภารกิจหลักในการฟื้นฟูสมรรถภาพทางจิตเวช ตระหนักถึงความสำคัญของบุคลากรเครือข่ายสาธารณสุขทุกระดับ จึงได้จัดทำโครงการพัฒนาระบบบริการด้านสุขภาพจิตและจิตเวชในศูนย์สุขภาพชุมชน และสถานบริการสาธารณสุขทุกระดับในจังหวัดนนทบุรีขึ้น โดยใช้วิธีการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม เพื่อให้บุคลากรสาธารณสุขทุกระดับได้ร่วมกันประเมินและวิเคราะห์ปัญหา ร่วมกันหาแนวทางในการพัฒนารูปแบบการบริการ มีขั้นตอนในการบริการ และมีมาตรฐานการบริการสุขภาพจิตและจิตเวช รวมถึงมีระบบการส่งต่อที่มีมาตรฐาน เกิดความพึงพอใจในบริการแก่ประชาชน และบุคลากรสาธารณสุขทุกระดับมีความเข้าใจและใกล้ชิดประชาชน เกิดความมั่นใจในการปฏิบัติงาน อีกทั้งประชาชนก็ได้รับประโยชน์จากการได้รับบริการสุขภาพแบบใกล้บ้านใกล้ใจ ซึ่งจัดเป็นการสนองนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 30 บาท รักษาทุกโรคอีกด้วย วัตถุประสงค์ 1. เพื่อพัฒนาระบบบริการด้านสุขภาพจิตและจิตเวชในศูนย์สุขภาพชุมชน (PCU) และสถานบริการสาธารณสุขทุกระดับจังหวัดนนทบุรี 2. เพื่อพัฒนามาตรฐานในการให้บริการสุขภาพจิตและจิตเวชในศูนย์สุขภาพชุมชน (PCU) และสถานบริการสาธารณสุขทุกระดับในจังหวัดนนทบุรี 3. เพื่อศึกษาความคิดเห็นของบุคลากรสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานในศูนย์สุขภาพชุมชน (PCU) และสถานบริการสาธารณสุขทุกระดับในจังหวัดนนทบุรีที่เข้าร่วมโครงการ 4. เพื่อศึกษาความคิดเห็นของผู้รับบริการที่มีต่อบริการสุขภาพจิตและจิตเวช ในศูนย์สุขภาพชุมชน (PCU) และสถานบริการสาธารณสุขทุกระดับในจังหวัดนนทบุรี 5. เพื่อศึกษาปัญหา อุปสรรค ในการดำเนินงานและแนวทางแก้ไข ขอบเขตของการวิจัย การศึกษาวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory action research) มุ่งเน้นให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันจัดกระบวนการที่เหมาะสมกับบริบทของแต่ละพื้นที่ที่ศึกษาในจังหวัดนนทบุรี โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนมีนาคม-กันยายน 2546 ระเบียบวิธีวิจัย 1. ศึกษาในกลุ่มบุคลากรสาธารณสุขในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง จำนวน 55 คน และกลุ่มผู้รับบริการ ซึ่งทำการคัดเลือกโดยผู้ปฏิบัติงานสุขภาพจิตที่ปฏิบัติงานในศูนย์สุขภาพชุมชนร่วมกันพิจารณา 2. เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย แบบสัมภาษณ์เชิงลึก แนวทางการสนทนากลุ่ม การสังเกตแบบมีส่วนร่วม เทปบันทึกเสียง 3. การเก็บรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องด้วยเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยดังกล่าว ในข้อ 2 4. การวิเคราะห์ข้อมูล ข้อมูลที่ได้จากเทปบันทึกเสียงจะถูกถอดคำเพื่อนำมาวิเคราะห์ ส่วนข้อมูลจากการสังเกตแบบมีส่วนร่วมจะนำมาวิเคราะห์ เพื่อให้ได้ภาพสถานการณ์ที่เป็นจริงในปัจจุบัน โดยข้อมูลดิบที่บ่งชี้ถึงตัวผู้ให้ข้อมูลหลักจะถูกเก็บเป็นความลับ และผู้ให้ข้อมูลหลักทุกคนยืนยันที่จะให้ข้อมูลในการวิจัยครั้งนี้ สรุปผลการวิจัย ผลการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า บุคลากรสาธารณสุขในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องขาดความรู้ ขาดทักษะ และประสบการณ์ในการให้บริการสุขภาพจิตและจิตเวช และผู้รับบริการขาดความรู้ในเรื่องการดูแลตนเอง เมื่อเจ็บป่วย เมื่อได้วิเคราะห์ปัญหา อุปสรรค และความต้องการร่วมกันแล้ว จึงได้ดำเนินการพัฒนาระบบบริการด้านสุขภาพจิตและจิตเวช จัดให้ความรู้เรื่องโรค ความรู้เรื่องยา ความรู้เรื่องการดูแลแก่ผู้ช่วยวิจัย รวมถึงร่วมปฏิบัติงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องด้วยระยะเวลาในการดำเนินการ 45 วัน พบว่าบุคลากรมีการพัฒนาศักยภาพและความสามารถในทางที่ดีขึ้น สามารถให้บริการด้านสุขภาพจิตและจิตเวชแก่ผู้รับบริการด้วยความรู้ ทักษะ และให้บริการด้วยความมั่นใจมากขึ้น เมื่อติดตามประเมินผลต่อเนื่อง พบว่าบุคลากรสามารถให้ความรู้ คำแนะนำแก่ผู้รับบริการได้ด้วยตนเอง และผู้รับบริการมีความรู้ในเรื่องการดูแลตนเอง เมื่อเจ็บป่วยเพิ่มขึ้นกว่าเดิม ข้อเสนอแนะ 1. ควรที่จะมีการพัฒนาศักยภาพให้แก่ผู้ที่รับผิดชอบงานสุขภาพจิต โดยการสร้างความตระหนักในการบริการด้านสุขภาพจิตและจิตเวชในชุมชน และควรมีการจัดอบรมความรู้ที่เกี่ยวกับสุขภาพจิตและจิตเวช โดยเฉพาะการดูแลให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยโรคทางจิตเวชและญาติ 2. ควรมีการจัดอบรมความรู้เรื่องโรคจิตเวชให้แก่คนในชุมชน และควรให้คนในชุมชนมีส่วนในการให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยและครอบครัว 3. โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป และโดยเฉพาะโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านจิตเวช ควรให้ความสำคัญต่อผู้ปฏิบัติในระดับศูนย์สุขภาพชุมชน ควรมีการให้ความช่วยเหลือ และร่วมปฏิบัติงานกับผู้ปฏิบัติในระดับศูนย์สุขภาพชุมชน เพื่อเข้าถึงปัญหา ร่วมรับรู้ปัญหา และร่วมกันแก้ไขปัญหา จัดเป็นการปฏิบัติการเชิงรุก ซึ่งจะช่วยให้เข้าถึงปัญหาอย่างแท้จริง.

Keywords: ศูนย์สุขภาพชุมชน, ระบบบริการสุขภาพ, สุขภาพจิต, ชุมชน, บริการสุขภาพจิต, จิตเวช, จิตเวชชุมชน, ใกล้บ้านใกล้ใจ,

ปีที่เผยแพร่/Year: 2547

Address: โรงพยาบาลศรีธัญญา กรมสุขภาพจิต

Code: 1000126

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในเวทีประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิตนานาชาติประจำปี 2547 สุขภาพจิตกับยาเสพติด

Download: -