ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ณัฐฑิพร ชัยประทาน ผศ.ดร.สมพร รุ่งเรืองกลกิจ มธุลดา ชัยมี

ชื่อเรื่อง/Title: ผลของการให้การปรึกษารายบุคคลโดยใช้แนวคิดการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมร่วมกับการฝึกผ่อนลมหายใจและการฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อในผู้ป่วยโรควิตกกังวล

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ, ครั้งที่ 4, เรื่องสุขภาพจิตกับภัยพิบัติ, วันที่ 6-8 กรกฎาคม 2548 ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ, กรุงเทพมหานคร, หน้า 126-127.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล โรควิตกกังวลเป็นปัญหาสุขภาพจิตท่าสำคัญ พบมากเป็นอันดับหนึ่งของผู้มาใช้บริการด้านสุขภาพจิต กลุ่มงานจิตเวช โรงพยาบาลหนองบัวลำภู และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆลักษณะการดำเนินโรคพบว่าอาการมักขึ้นๆ ลงๆ เรื้อรัง รุนแรงเป็นช่วงสัมพันธ์กับความเครียดในชีวิตประจำวัน ก่อเกิดความไม่สุขสบายทางกายต่างๆ ตลอดจนความเดือดร้อนแก่ผู้ป่วยด้านอื่นตามมา เช่น ประสิทธิภาพการทำงานลดลง ความขัดแย้งในครอบครัว ภาวะเศรษฐกิจที่ต้องใช้จ่ายในการรักษา การเสาะแสวงหาการรักษาหลายแห่ง และหากปล่อยให้เรื้อรังจะก่อเกิดโรคทางกายตามมาจริงๆ อีกทั้งผู้ป่วยมักรู้สึกท้อแท้ หดหู่ ส่งผลต่อความคิดฆ่าตัวตายตามมาได้ การจัดบริการให้การช่วยเหลือที่ผ่านมาในโรงพยาบาลหนองบัวลำภู เน้นการใช้ยาเป็นหลักและการให้คำแนะนำปรึกษาโดยจิตแพทย์ซึ่งมีข้อจำกัดด้านเวลา และการให้การปรึกษาขั้นพื้นฐานโดยพยาบาล พบว่ายังให้ การช่วยเหลือผู้ป่วยได้ไม่เต็มที่ กอรปกับการรักษาทางจิตสังคมที่นอกเหนือไปจากการใช้ยานั้นจำเป็นต้องใช้ความรู้ความสามารถเฉพาะเรื่อง จึงจะสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยให้ลดความกังวลและปรับตัวต่อความกังวลนั้นได้ จึงพบว่าผู้ป่วยยังคงมีอาการขึ้นๆลงๆ วนเวียนเข้ารับการรักษาอยู่เป็นประจำและมีอาการทุกครั้งที่ยาหมดไม่สามารถควบคุมความกังวลได้ด้วยตัวเอง ผลที่ตามมาผู้ป่วยต้องใช้ยาติดต่อกันเป็นเวลานาน การใช้ยาติดต่อกันเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดการพึ่งพายา และเกิดอาการถอนยาได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ป่วยจะต้องได้รับการดูแลช่วยเหลืออย่างมีประสิทธิภาพ จากการทบทวนวรรณกรรม พบว่า การบำบัดรูปแบบปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมเป็นวิธีการบำบัดทางจิตสังคมที่ได้ผลดีที่สุดเมื่อเทียบกับวิธีอื่น ในการลดอาการของผู้ป่วย ในการลดอาการของผู้ป่วย ทั้งยังป้องกันการกลับเป็นซ้ำได้อีกเป็นที่นิยมในต่างประเทศ ผู้ศึกษาจึงมีความสนใจนำแนวคิดดังกล่าวมาใช้ในการพัฒนารูปแบบการให้การช่วยเหลือผู้ป่วยโรควิตกกังวลให้มีรูปแบบที่เหมาะสม สามารถส่งเสริมประสิทธิผลการรักษาให้ได้ผลดียิ่งๆขึ้น วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาผลการให้การปรึกษารายบุคคล โดยใช้แนวคิดการปรับเปลี่ยนความคิด และพฤติกรรม ร่วมกับการฝึกผ่อนลมหายใจ และการฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อในผู้ป่วยโรควิตกกังวล ขอบเขตการศึกษา ทำการศึกษาในผู้ป่วยโรควิตกกังวลชนิด Generalized anxiety disorder ที่มารับบริการ คลินิกจิตเวชผู้ป่วยนอก กลุ่มงานจิตเวช โรงพยาบาลหนองบัวลำภู ระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์-30เมษายน 2547 วิธีดำเนินการศึกษา คัดเลือกกลุ่มเป้าหมายแบบเจาะจง จำนวน 22 คน เข้าโปรแกรมการให้การปรึกษารายบุคคลโดยใช้แนวคิดการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม ที่ผู้ศึกษาจัดทำขึ้น ประกอบด้วยกิจกรรมการบำบัด 5 ครั้งๆ ละ 90 นาที สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ต่อเนื่องเป็นเวลา และติดตามผลหลังการบำบัดเป็นเวลา 1 เดือน โครงสร้างเนื้อหาประกอบด้วย 1) การเรียนรู้ธรรมชาติโรควิตกกังวล เหตุผลการบำบัดแบบปรับเปลี่ยนความคิด และพฤติกรรม ร่วมกับการฝึกผ่อนลมหายใจเพื่อระงับความกังวล 2) ฝึกการผ่อนคลายกล้ามเนื้อเพื่อควบคุมความกังวล 3) เรียนรู้เทคนิคการปรับเปลี่ยนความคิดพิชิตความกังวล 4) เรียนรู้เทคนิคการแก้ไขปัญหา และ 5) สรุปทวนบทเรียนและนำไปใช้ เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา ประกอบด้วยเครื่องมือที่ใช้ในการดำเนินการศึกษา ได้แก่ 1. คู่มือโปรแกรมการให้การปรึกษาราบบุคคลโดยใช้แนวคิด CBT 2.สมุดบันทึกประจำตัวผู้ป่วย 3.เทปการฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อของกรมสุขภาพจิต และแผ่นภาพประกอบการให้ความรู้ เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินผล ประกอบด้วย 1)แบบบันทึกข้อมูลของผู้ป่วย 2)แบบวัดความวิตกกังวลของ Speilberger (STAL from x) ฉบับภาษาไทย 3)แบบประเมินสภาวะอารมณ์ก่อนและหลังการผ่อนคลายด้วยตนเอง 4)แบบสำรวจความพึงพอใจ การเก็บรวบรวมข้อมูล ระยะก่อนการบำบัด รวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบบันทึกข้อมูลผู้ป่วย และวัดความวิตกกังวลด้วยแบบวัดความวิตกกังวล ระหว่างการบำบัด รวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์ความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาการบำบัดแต่ละครั้ง วิเคราะห์เนื้อหาการเปลี่ยนความคิดจากการบันทึกเทปการสนทนา สมุดบันทึกประจำตัวผู้ป่วย (การบ้าน) ในแต่ละครั้งระยะหลังการบำบัด วัดความวิตกกังวลซ้ำ และสำรวจความพึงพอใจต่อบริการที่ได้รับ และในระยะติดตามผล วัดความวิตกกังวลซ้ำ อีกทั้งนำข้อมูลการบำบัดตามแผลการรักษาของแพทย์มาประกอบการประเมินผล และซักถามข้อมูล ความคิดเห็นเพิ่มเติมจากจิตแพทย์ผู้รักษา การวิเคราะห์ข้อมูล โดยการแจกแจงความถี่ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และเปรียบเทียบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยคะแนนความวิตกกังวลก่อนกับหลังการบำบัด และหลังบำบัดกับระยะติดตามผลด้วยสถิติ Paired-t test ส่วนข้อมูลคุณภาพนำมาวิเคราะห์เนื้อหา ผลการศึกษา พบว่าความวิตกกังวล ขณะปัจจุบันและความวิตกกังวลประจำของผู้ป่วยโรควิตกกังวลหลังบำบัดน้อยกว่าก่อนการบำบัด และระยะติดตามผลน้อยกว่าหลังการบำบัด อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ(P-value‹.001)ที่ระดับความเชื่อมั่น 95% ผลจากการวิเคราะห์เนื้อหาในการบำบัดพบว่า ผู้ป่วยเกิดการเรียนรู้และเข้าใจภาวะเจ็บป่วยของตน ก่อเกิดแรงจูงใจและมั่นใจในการรักษาให้หายขาด ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีตามแผนการรักษา และสามารถควบคุมความกังวลด้วยตนเอง ตลอดจนมีการปรับเปลี่ยนความคิดหรือมุมมองต่อการเผชิญปัญหาเป็นในทางบวกหรือยืดหยุ่นขึ้น ข้อเสนอแนะ ผลการศึกษาครั้งนี้สามารถนำไปเป็นแนวทางสำหรับการปฏิบัติการพยาบาลเพื่อลดความวิตกกังวลของผู้ป่วยโรควิตกกังวล ส่งเสริมประสิทธิผลการบำบัดรักษา ตลอดจนส่งเสริมความสามารถการดูแลตนเองในภาวะเจ็บป่วยได้ และเนื่องจากการศึกษาครั้งนี้เป็นการดำเนินโครงการศึกษาอิสระ จึงควรมีการศึกษาวิจัยและพัฒนาต่อไป

Keywords: โรควิตกกังวล, การฝึกผ่อนลมหายใจ, พฤติกรรม, กล้ามเนื้อ, การบำบัด, การให้การปรึกษารายบุคคล, บริการจิตเวช, จิตเวชศาสตร์, ให้การปรึกษา, โรควิตกกังวล

ปีที่เผยแพร่/Year: 2548

Address: กลุ่มจิตเวช โรงพยาบาลหนองบัวลำภู ภาควิชาสุขภาพจิตและการพยาบาลจิตเวช คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ภาควิชาสุขภาพจิตและการพยาบาลจิตเวช คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

Code: 2005000093

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกในการประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิตประจำปี 2548

Download: