ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: สุรีย์พร กุมภคาม

ชื่อเรื่อง/Title: ความสัมพันธ์ระหว่างแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ สภาพแวดล้อมในการทำงาน ความเหนื่อยหน่ายและความตั้งใจลาออกของพยาบาล โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการ กระทรวงสาธารณสุข (12-15 สิงหาคม 2546 จังหวัดชลบุรี), หน้า 162.

รายละเอียด / Details:

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา 1) ระดับระหว่างแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ และระดับความเหนื่อยหน่ายของพยาบาล 2) ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยส่วนบุคคล แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ และสภาพแวดล้อมในการทำงานกับความเหนื่อยหน่ายของพยาบาล 3) ความสัมพันธ์ระหว่างความเหนื่อยหน่ายกับความตั้งใจลาออกของพยาบาล 4) อำนาจการพยากรณ์ความตั้งใจลาออกจากตัวแปรปัจจัยส่วนบุคคล แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ สภาพแวดล้อมในการทำงานและความเหนื่อยหน่าย กลุ่มตัวอย่างคือ พยาบาล จำนวน 221 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล คือ แบบวัดแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ แบบสอบถามสภาพแวดล้อมในการทำงาน แบบวัดความเหนื่อยหน่าย และแบบสอบถามความตั้งใจลาออก วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป SPSS for Window ค่าสถิติที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน t-test. ANOVA ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน และการวิเคราะห์สมการถดถอยพหุคูณแบบเป็นขั้นตอน กำหนดระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ผลการวิจัย พบว่า 1) พยาบาลส่วนใหญ่มีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ระดับปานกลาง 2) พยาบาลส่วนใหญ่มีความเหนื่อยหน่ายด้านความอ่อนล้าทางอารมณ์ ความรู้สึกลดความเป็นบุคคล และการลดความสำเร็จส่วนบุคคลอยู่ในระดับต่ำ 3) อายุและระยะเวลาปฏิบัติงานมีความสัมพันธ์ทางลบกับความเหนื่อยหน่าย 4) พยาบาลที่มีตำแหน่งและสถานภาพสมรสแตกต่างกัน มีความเหนื่อยหน่ายแตกต่างกันในด้านความอ่อนล้าในอารมณ์และความรู้สึกลดความเป็นบุคคล 5) แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์มีความสัมพันธ์กับความเหนื่อยหน่าย 6) สัมพันธภาพระหว่างผู้บังคับบัญชา และสัมพันธภาพระหว่างเพื่อนร่วมงาน มีความสัมพันธ์กับความเหนื่อยหน่าย จำนวนชั่วโมงการทำงาน การทำงานกะ และการรับรู้ประสิทธิภาพของระบบการบริหารมีความสัมพันธ์กับความเหนื่อยหน่าย เฉพาะด้านความรู้สึกอ่อนล้าในอารมณ์และความรู้สึกลดความเป็นบุคคล 7) ความเหนื่อยหน่ายมีความสัมพันธ์ทางบวกกับความตั้งใจลาออก 8) อายุ สัมพันธภาพระหว่างเพื่อนร่วมงาน การทำงานกะ ความเหนื่อยหน่ายด้านความรู้สึกอ่อนล้าในอารมณ์ และความเหนื่อยหน่ายด้านการลดความสำเร็จส่วนบุคคลสามารถพยากรณ์ความตั้งใจลาออกได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติโดยมีสัมประสิทธิ์การกำหนดร้อยละ 41.0

Keywords: ความเหนื่อยหน่าย, แรงจูงใจ, พยาบาล, สุขภาพจิต

ปีที่เผยแพร่/Year: 2546

Address: โรงพยาบาลนพรัตน์ราชธานี กรมการแพทย์

Code: 000000063

ISSN/ISBN: 974-9627-39-3

Country of publication: Thailand.

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ปี 2546

Download: -