ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ภัควิภา คุโธปกรณ์พงษ์, บุญสิทธิ์ ไชยชนะ

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาและติดตามผลการให้คำปรึกษาครอบครัวที่มีบุตรคลอดจากสตรีที่ติดเชื้อเอดส์

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 6 ,24-26 มิถุนายน 2541

รายละเอียด / Details:

การวิจัยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาครอบครัวที่มีบุตรคลอดจากสตรีที่ติดเชื้อเอดส์ เกี่ยวกับ;ลักษณะและความเป็นอยู่ของครอบครัว ผลการตรวจร่างกายของสมาชิกในครอบครัว ตลอดจนติดตามผลการให้คำปรึกษาแต่ละขั้นตอน ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงบรรยายทั้งเชิงปริมาณ และคุณภาพ กลุ่มตัวอย่างได้จากสมาชิกของครอบครัวที่มีบุตรคลอดจากสตรีที่ติดเชื้อเอดส์ที่มารับบริการให้คำปรึกษาที่โรงพยาบาลพัทลุง ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2538 ถึงเดือนมิถุนายน 2539 ทั้งสิ้น 44 ครอบครัว ไม่มีญาติที่เกี่ยวข้องมารับการให้คำปรึกษา เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบบันทึกประวัติ แบบสัมภาษณ์อย่างมีโครงสร้าง ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น ตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาของเครื่องมือ โดยผู้เชี่ยวชาญ 3 ท่าน นอกจากนี้ได้สัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างโดยการบันทึกเทป เกี่ยวกับปัญหาและการปรับตัวของครอบครัว ผลการวิจัยพบว่าจากสตรีที่ติดเชื้อเอดส์ 44 คน ส่วนใหญ่เป็นคนพัทลุง อายุ 19-20 ปี มีการศึกษาในระดับประถมศึกษา ก่อนการมีบุตรส่วนใหญ่ไม่มีอาชีพประจำ เมื่อมีบุตรแล้วส่วนใหญ่เป็นแม่บ้านเลี้ยงดูบุตร ข้อมูลของสามี 44 คน พบว่าส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 26-30 ปี และมีการศึกษาระดับประถมศึกษา อาชีพรับจ้าง ส่วนใหญ่ภรรยาไม่มีรายได้ สามีมีรายได้ต่ำกว่า 3,000 บาทต่อเดือน มีบุตรด้วยกันเป็นคนแรก อาศัยอยู่ด้วยกันเฉพาะครอบครัวใหม่ของตนเอง และมีสมาชิกในครัวเรือน 3 คน สตรีส่วนใหญ่คลอดปกติ และบุตรมีน้ำหนักและความยาวปกติตามเกณฑ์ ผลการตรวจร่างกายสตรี 44 คน พบว่าน้ำหนักลดลงเล็กน้อยตามปกติของสตรีหลังคลอด และยังไม่แสดงอาการติดเชื้อในระบบอื่น สามีส่วนใหญ่ยังไม่เจาะเลือดตรวจหาเชื้อไวรัสเอดส์ มีเพียง 13 คน ที่รับการตรวจ พบว่าติดเชื้อ 9 คน และผู้ที่มารับการตรวจร่างกาย 10 คน มี 5 คน แสดงอาการติดเชื้อในระบบอื่น ส่วนบุตรทุกคนน้ำหนักเพิ่มขึ้น และมีพัฒนาการปกติตามเกณฑ์ ผลการตรวจเลือดบุตร 16 คน เมื่ออายุครบ 15 เดือนพบว่ามีเพียง 2 คน ที่ผลเลือดเป็นบวก และเพิ่งได้รับการตรวจเป็นครั้งแรก ผลการให้คำปรึกษาในแต่ละขั้นตอน;พบว่า ส่วนใหญ่ทั้งสามีและภรรยาตอบสนองต่อกระบวนการให้คำปรึกษาเป็นอย่างดียิ่ง ทุกคนมีปัญหานอนไม่ค่อยหลับ และสะท้อนถึงความพยายามปรับตัวทางจิตสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สตรีที่ติดเชื้อเอดส์ส่วนใหญ่ไม่กล้าบอกสามีและผู้อื่น ปัญหาสำคัญคือการส่งเสริมให้สามีควบคุมการแพร่กระจายเชื้อโดยการใช้ถุงยางอนามัย และพบว่าการใช้ถุงยางอนามัยของสามีเกี่ยวข้องกับประสบการณ์ความรู้สึกชอบใช้ถุงยางอนามัยหรือไม่ ครอบครัวส่วนใหญ่วางแผนจะดูแลบุตรเอง ครอบครัวที่มีจำนวนสมาชิกมากขึ้น และอยู่รวมกับครอบครัวของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จะมีปัญหาทางสังคมแวดล้อมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยมาก นอกเหนือจากปัญหาทางอารมณ์และเศรษฐกิจ ผลการให้คำปรึกษาสตรีที่ติดเชื้อเอดส์ 21 คน และสามี 9 คน ที่มารับคำปรึกษาอย่างต่อเนื่องก่อนให้คำปรึกษา พบว่าสตรีมีความรู้สึกว่าตนเองเจ็บป่วยรุนแรงมาก ค่อนไปทางมากที่สุด ยอมรับความเจ็บป่วยได้เล็กน้อย ค่อนข้างน้อยที่สุด มีแบบแผนการดำเนินชีวิตที่ไม่ค่อยปกติ หลังให้คำปรึกษามีความรู้สึกว่า ตนเองเจ็บป่วยรุนแรงปานกลาง ยอมรับความเจ็บป่วยได้ปานกลางมีแบบแผนการดำเนินชีวิตปกติมากขึ้น ผู้วิจัยได้ทำการสัมภาษณ์ระดับลึก นำเสนอโดยใช้ข้อมูลเชิงคุณภาพเกี่ยวกับการปรับตัวของครอบครัว 8 ครอบครัว พบว่าครอบครัวนั้นปรับตัวได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ภายในครอบครัว การรับรู้ภาวะเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอดส์ จำนวนสมาชิกที่อาศัยอยู่บ้านเดียวกัน และความเชื่อในธรรมชาติของการเกิด แก่ เจ็บ ตาย

Keywords: AIDS, cunseling, family, HIV, mental health, psychology, จิตวิทยา, ปรึกษา, ครอบครัว, การให้คำปรึกษา, โรคเอดส์, เอดส์

ปีที่เผยแพร่/Year: 2541

Address: โรงพยาบาลพัทลุง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข

Code: 200410006055

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข

Download: -