ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตเขต 7

ชื่อเรื่อง/Title: ผลการสำรวจภาวะสุขภาพจิตคนไทยระดับจังหวัดในพื้นที่การสาธารณสุข

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 8 วันที่ 23-25 สิงหาคม 2543

รายละเอียด / Details:

การสำรวจภาวะสุขภาพจิตคนไทยระดับจังหวัดในพื้นที่สาธารณสุข เขต 7 ปีงบประมาณ 2542 เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสำรวจภาวะสุขภาพจิตคนไทยในระดับจังหวัด ปีงบประมาณ 2542 ของกรมสุขภาพจิต โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะและขนาดของปัญหาสุขภาพจิตปัญหาสังคมที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตของบุคคลครอบครัวและชุมชนในแต่ละจังหวัด อีกทั้งเป็นการประเมินผลการดำเนินงานสุขภาพจิตในแผนพัฒนาสุขภาพจิตตามแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2540-2544) ครึ่งแผน ตลอดจนเป็นการประเมินภาวะสุขภาพจิตของประชาชนในระดับจังหวัด โดยคาดว่าจะนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ในการวางแผนการดำเนินงาน ส่งเสริมป้องกัน ดูแล รักษาและฟื้นฟูสุขภาพจิตประชาชนได้อย่างสอดคล้องตรงกับสภาพปัญหาของแต่ละจังหวัด พื้นที่ในการสำรวจประกอบด้วย จังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร ร้อยเอ็ด อำนาจเจริญ มุกดาหาร นครพนม รูปแบบการวิจัยเป็นการวิจัยเชิงพรรณนาคัดขวางช่วงเวลาสำรวจในชุมชน ( Descriptive Cross-community Survey) ดำเนินการเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 1-31 กรกฎาคม 2542 ทำการสุ่มตัวอย่างจากประชาชน อายุ 15 ปีขึ้นไป โดย ทำการสุ่มแบบ2 ขั้นตอนในแต่ละจังหวัด ได้จำนวนกลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 3,534 เครื่องมือในการเก็บข้อมูลเป็นแบบสัมภาษณ์ที่ใช้ในการคัดกรองและวินิจฉัยโรคทางจิตเวช การติดยาและสารเสพติด การดื่มและการติดสุรา การฆ่าตัวตาย แบบสัมภาษณ์ปัญหาความทุกข์ใจ/ไม่สบายใจ/กลุ้มใจและการแก้ปัญหา การเข้าถึงบริการสุขภาพจิต ความสุขในชีวิต ภาระการดูแลผู้พึ่งพิง ผู้พิการและผู้สูงอายุ และเด็กพัฒนาการล่าช้าในครอบครัว ปัญหาและวิธีการแก้ปัญหาของชุมชน การหย่าร้าง การทารุณกรรมเด็ก และความรุนแรงในครอบครัวทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าร้อยละ chi-square ผลการสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 70 เป็นเพศหญิงมีอายุระหว่าง45-59 ปีมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 28.9 ร้อยละ 75.4 มีการใช้สารเสพติดร้อยละ 0.3 มีการดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่ผสม แอลกอฮอล์ ร้อยละ30.8 โดยร้อยละ 76.6 เป็นการดื่มแบบนาน ๆ ครั้ง และร้อยละ 1.0 มีอาการมือสั่นหลังหยุดดื่มในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ร้อยละ53.7 มีเรื่องทุกข์ใจ/ไม่สบายใจ/กลุ้มใจ เรื่องที่ทำให้ทุกข์มากที่สุด คือ ปัญหาเศรษฐกิจ/การเงิน คิดเป็นร้อยละ 48.7 และวิธีการแก้ปัญหาทุกข์ใจที่ใช้มากที่สุด คือ การพึ่งตนเอง คิดเป็นร้อยละ 59.7นอกจากนั้นกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 0.1 มีความคิดฆ่าตัวตาย โดยเป็นการคิดเพียงอย่างเดียว ไม่ลงมือทำ ข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลในครอบครัวของกลุ่มตัวอย่างพบว่า ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา มีการใช้สารเสพติด ร้อยละ 1.0 โดยใช้ยาบ้า/ยาขยันมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 0.6 มีการดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์ ร้อยละ 45.9 ซึ่งเป็นการดื่มแบบนาน ๆ ครั้ง ร้อยล ะ76.6 และร้อยละ 70.3 ครอบครัวร่วมกันแก้ปัญหาดังกล่าว นอกจากนั้น ยังพบว่ามีสมาชิกในครอบครัวร้อยละ 0.5 มีการพูดถึงการฆ่าตัวตาย ร้อยละ 1.1 มีความผิดปกติทางจิต ร้อยละ 8.3 เป็นผู้ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ โดยร้อยละ 30.1 เป็นภาระให้ต้องดูแลเป็นบางครั้ง ข้อมูลเกี่ยวกับผู้สูงอายุพบว่าร้อยละ 26.9 มีผู้สูงอายุในครอบครัว จำนวน 1 คน และเป็นภาระให้ต้องดูแลอย่างใกล้ชิดร้อยละ 50.3 สำหรับกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้สูงอายุมีการรับรู้ตนเองได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด ร้อยละ 44 และร้อยละ 0.5 มีเด็กพัฒนาการล่าช้าในครอบครัว ในด้านการรู้จักบริการสุขภาพจิตพบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 51.7 รู้จักบริการให้คำปรึกษาในสถานบริการของรัฐ/เอกชนมากที่สุด โดยร้อยละ 10.4 เคยใช้บริการตรวจ/รักษาในโรงพยาบาลหรือคลินิก สำหรับความคิดเห็นต่อข้อชี้วัดสุขภาพจิตดีถ้วนหน้าพบว่ามากร้อยละ 95 มีความเห็นว่าสภาพชุมชนน่าอยู่ รู้สึกมีความสุขและครอบครัวมีความสุข ปัญหาที่พบในชุมชนมากที่สุด คือปัญหาเศรษฐกิจ คิดเป็นร้อยละ 52.2 เมื่อเกิดปัญหาร้อยละ 38.4 ชุมชนแก้ไขปัญหาเอง ส่วนข้อมูลเกี่ยวกับครอบครัวที่อยู่ติดกับบ้านกลุ่มตัวอย่างพบว่ามีการหย่าร้างร้อยละ 5 มีการทะเลาะเบาะแว้ง ด่าทอระหว่างสามีภรรยา ร้อยละ 6.2 และร้อยละ 94.1 มีการปฏิบัติต่อเด็กในครอบครัวดี

Keywords: ภาวะสุขภาพจิต, สุขภาพจิต, การสำรวจ

ปีที่เผยแพร่/Year: 2543

Address: ศูนย์สุขภาพจิต เขต 7 กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 200430008228

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข

Download: -