ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: องุ่น พยุงธรรม

ชื่อเรื่อง/Title: ประเมินโครงการสืบสานประเพณีไทยเพื่อฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวช

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการนานาชาติ ครั้งที่ 2 สุขภาพจิตกับยาเสพติด ปี 2546. หน้า 236. (วันที่ 19-21 สิงหาคม 2546 ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์ กรุงเทพมหานคร)

รายละเอียด / Details:

การเจ็บป่วยด้วยโรคทางจิตเวช ส่งผลกระทบให้ผู้ป่วยมีข้อจำกัดหรือสูญเสียความสามารถที่จะดำเนินชีวิตประจำวันเหมือนคนปกติบางคนต้องได้รับการดูแลระยะยาว ดังนั้นนอกจากการรักษาด้วยยาแก่ผู้ป่วยทางจิตแล้ว ประเด็นที่ต้องดำเนินการควบคู่ไปด้วย คือ การฟื้นฟูสมรรถภาพ การฟื้นฟูสมรรถภาพเป็นการพัฒนาผู้ที่มีความบกพร่องทางจิต เพื่อให้เขาเหล่านั้นสามารถใช้ศักยภาพที่ตนเองมีอยู่ให้มากที่สุด โดยมีจุดมุ่งหมายพัฒนาคุณภาพชีวิตรวมทั้งให้เขาเหล่านั้นมีความสามารถในการใช้ชีวิตเหมือนคนทั่วไปในสังคม โรงพยาบาลศรีธัญญามีหน้าที่รับผิดชอบให้บริการสุขภาพจิตและจิตเวช ในระดับตติยภูมิขั้นสูงเน้นการฟื้นฟูสมรรถภาพทางจิตเวช จำนวนผู้ป่วยในความรับผิดชอบเฉลี่ยวันละ 1,500 คน วันนอนโรงพยาบาลผู้ป่วยแรกรับ/เร่งรัดบำบัดเฉลี่ย 54 วัน ผู้ป่วยบำบัดระยะยาวเฉลี่ย 4,100 วัน ข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่ามีผู้ป่วยอยู่ในโรงพยาบาลจำนวนมากส่งผลให้ ขาดโอกาสดำเนินชีวิตเหมือนคนทั่วไป เช่น การร่วมกิจกรรมทางสังคม ดังนั้นกลุ่มงานการพยาบาลจึงจัด โครงการสืบสานประเพณีไทยฯสำหรับผู้ป่วยขึ้น เพื่อให้ผู้ป่วยได้มีโอกาสร่วมกิจกรรมสำคัญทางประเพณีไทย เป็นการฟื้นฟูสมรรถภาพทางสังคมสำหรับผู้ป่วยที่รับไว้รักษาในโรงพยาบาล และเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่นลดการแยกตัวออกจากสังคมช่วยให้ผู้ป่วยเรียนรู้การใช้ชีวิตเหมือนคนทั่วไป โครงการจัดขึ้นในวันที่ 10 เมษายน 2546 ผู้ร่วมโครงการประกอบด้วย บุคลากร ผู้ป่วย และนักศึกษาฝึกงาน รวม 400 คน กิจกรรมในงานประกอบด้วย ขบวนกลองยาว ขบวนแห่นางสงกรานต์ การแสดง รำกลองยาว การแสดงอังกะลุง การละเล่นพื้นบ้าน การประกวดนางสงกรานต์ การรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ การสรงน้ำพระพุทธรูป และเล่นน้ำสงกรานต์ สรุปและข้อเสนอแนะ ผลการดำเนินโครงการประเมินจากการสัมภาษณ์ สังเกต และตอบแบบสอบถาม พบว่าผู้เข้าร่วมโครงการมีความพึงพอใจระดับมาก ร้อยละ 86 ต้องการให้มีการจัดกิจกรรมทุกปี ร้อยละ 97 จากการสังเกตผู้ป่วยที่เข้าร่วมกิจกรรมมีสีหน้าแจ่มใส สนใจการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ เช่น ประกวดนางสงกรานต์ ร่วมขบวนกลองยาว แสดงอังกะลุง จากการสัมภาษณ์ผู้ร่วมโครงการส่วนใหญ่บอกว่าอยากให้จัดทุกปี เพราะเป็นการทำบุญประจำปี ผู้ป่วยรู้จักวัฒนธรรมประเพณีไทยมากขึ้น ช่วยให้ผู้ป่วยเกิดความสามัคคีมีความสนุกสนานทำให้หายคิดถึงเรื่องต่างๆ และอาการป่วยดีขึ้น อยากให้เพื่อนผู้ป่วยได้ร่วมกิจกรรมทุกคน เมื่อสัมภาษณ์ผู้สูงอายุที่ร่วมกิจกรรมรดน้ำดำหัว คำตอบส่วนใหญ่ที่ได้รับ คือชื่นใจ ภูมิใจที่คนอื่นยังเห็นว่าเขาเหล่านั้นมีความสำคัญ สรุปได้ว่าการจัดโครงการครั้งนี้ประสบผลสำเร็จ เป็นกิจกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพที่สำคัญ และสมควรพัฒนาเป็นรูปแบบในการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยทางจิตและศึกษาประสิทธิผลของ โครงการต่อไป

Keywords: โครงการสืบสาน ประเพณีไทย ฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวช, ผู้ป่วยทางจิต, จิตเวช, ผู้ป่วยโรคจิต, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์

ปีที่เผยแพร่/Year: 2546

Address: โรงพยาบาลศรีธัญญา กรมสุขภาพจิต

Code: 000000122

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -