ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: สลิษา หลิมศิโรรัตน์, นวลฉวี ประเสริฐสุข.

ชื่อเรื่อง/Title: ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการดูแลผู้ป่วยแอลกอฮอล์ของญาติผู้ดูแล: กรณีศึกษาโรงพยาบาลราชบุรี.

แหล่งที่มา/Source: ประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ, จากหลังคาแดงสู่ชุมชน ระหว่างวันที่ 3-5 กรกฎาคม 2549, หน้า 216-217.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล ปัญหาสำคัญในการบำบัดรักษาผู้ที่ประสบปัญหาจากแอลกอฮอล์ คือ การที่ผู้ป่วยกลับไปดื่มหรือติดแอลกอฮอล์ซ้ำเมื่อกลับไปอยู่ที่บ้าน ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากครอบครัวให้การดูแลไม่เหมาะสม ผู้วิจัยจึงสนใจที่จะศึกษาว่า มีปัจจัยใดบ้างที่จะส่งผลให้ญาติมีพฤติกรรมการดูแลผู้ป่วยอย่างเหมาะสม เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาระบบการให้บริการผู้ป่วยแอลกอฮอล์ของโรงพยาบาลราชบุรีต่อไป วัตถุประสงค์ 1. เพื่อศึกษา ระดับความรู้เกี่ยวกับภาวะการณ์ติดแอลกอฮอล์ ความตระหนักในบทบาทของการเป็นผู้ดูแล สัมพันธภาพระหว่างญาติผู้ดูแลกับผู้ป่วย แรงสนับสนุนทางสังคม และพฤติกรรมการดูแลผู้ป่วยแอลกอฮอล์ของญาติผู้ดูแล 2. เพื่อศึกษาเปรียบเทียบพฤติกรรมการดูแลผู้ป่วยแอลกอฮอล์ของญาติ จำแนกตามเพศ อายุ ระดับการศึกษา สภาพเศรษฐกิจของครอบครัว ความเกี่ยวข้องกับผู้ป่วย และจำนวนสมาชิกในครอบครัวที่ให้ความร่วมมือในการดูแลผู้ป่วย 3. เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการดูแลผู้ป่วยแอลกอฮอล์ของญาติผู้ดูแลเรียงตามลำดับความสำคัญของตัวแปรที่ถูกนำเข้าสมการ ขอบเขตการวิจัย ประชากรเป็นญาติที่ทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยแอลกอฮอล์ที่เข้ามารักษาในกลุ่มงานจิตเวชโรงพยาบาลราชบุรี ใช้กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 204 คน กำหนดขนาดโดยการคำนวณจากสูตรของยามาเน ที่ความเชื่อมั่นร้อยละ 95 ทำการสุ่มตัวอย่างโดยใช้การสุ่มแบบมีระบบเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถามที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น จากการทบทวนวรรณกรรมผ่านการตรวจสอบความเที่ยงตรงเชิงเนื้อหา โดยผู้ทรงคุณวุฒิและนำไปหาค่าความเชื่อมั่น ก่อนนำมาเก็บข้อมูลกับกลุ่มตัวอย่าง การวิเคราะห์ข้อมูล ใช้สถิติ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน t-test, one-way anova และ stepwise multiple regression analysis ผลการวิจัย 1. กลุ่มตัวอย่างมีความตระหนักในบทบาทของการเป็นผู้ดูแล และพฤติกรรมการดูแลผู้ป่วยแอลกอฮอล์อยู่ในระดับดี มีความรู้เกี่ยวกับภาวะการติดแอลกอฮอล์ สัมพันธภาพระหว่างญาติผู้ดูแลกับผู้ป่วย และแรงสนับสนุนทางสังคม อยู่ในระดับปานกลาง 2. ญาติผู้ดูแลที่มีเพศและระดับการศึกษาต่างกันมีพฤติกรรมการดูแลผู้ป่วยแอลกอฮอล์แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยญาติเพศหญิงมีพฤติกรรมการดูแลผู้ป่วยแอลกอฮอล์ดีกว่าญาติเพศชาย และญาติที่จบการศึกษาสูงกว่าระดับประถมศึกษามีพฤติกรรมการดูแลผู้ป่วยแอลกอฮอล์ดีกว่าญาติที่มีระดับการศึกษาต่ำกว่าหรือเท่ากับประถมศึกษา 3. ความตระหนักในบทบาทของการเป็นผู้ดูแล แรงสนับสนุนทางสังคม ความรู้เกี่ยวกับภาวการณ์ติดแอลกอฮอล์ และสัมพันธภาพระหว่างญาติผู้ดูแลกับผู้ป่วย เป็นปัจจัยที่สามารถร่วมกันทำนายพฤติกรรมการดูแลผู้ป่วยแอลกอฮอล์ได้ร้อยละ 33.9 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 เรียงตามลำดับความสำคัญของตัวแปรที่ถูกนำเข้าสมการ ข้อเสนอแนะ 1. ควรจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพให้กับญาติของผู้ป่วยแอลกอฮอล์ โดยเน้นในเรื่องของการสร้างความตระหนักในบทบาทของการเป็นผู้ดูแล การให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะการติดแอลกอฮอล์และการเสริมสร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างญาติผู้ดูแลกับผู้ป่วย 2. ควรเพิ่มการสนับสนุนทางสังคมในด้านต่างๆ ให้กับญาติของผู้ป่วยแอลกอฮอล์ ทั้งในด้านจิตใจ ข้อมูลข่าวสาร ความรู้ และการอำนวยความสะดวก รวมทั้งมีการพัฒนาศักยภาพให้กับบุคลากรสาธารณสุขในชุมชน เพื่อให้เป็นแหล่งสนับสนุนทางสังคมให้กับผู้ป่วยแอลกอฮอล์และญาติ 3. ควรติดตามดูแลผู้ป่วยในชุมชนหลังจากจำหน่าย มีการเตรียมครอบครัว เพื่อนบ้านหรือกลุ่มเพื่อนร่วมงานของผู้ป่วยให้มีความรู้ความเข้าใจในการดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยอย่างเหมาะสมเพื่อจะช่วยส่งเสริมให้ผู้ป่วยสามารถเลิกดื่มแอลกอฮอล์ได้อย่างต่อเนื่อง

Keywords: พฤติกรรม, แอลกอฮอล์, ญาติ, ผู้ดูแล, อิทธิพล, ปัจจัย, ครอบครัว, ยาเสพติด, สารเสพติด, สุรา, เหล้า, พฤติกรรมการดูแล

ปีที่เผยแพร่/Year: 2549

Address: กลุ่มงานจิตเวช โรงพยาบาลราชบุรี และมหาวิทยาลัยศิปากร

Code: 2006000121

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ

Download: -