ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: จุมภฏ พรมสีดา, สมจิตต์ ลุประสงค์, หยกฟ้า บูญชิต, เลิศฤทธิ์ บัญชาการ

ชื่อเรื่อง/Title: ความสามารถในการต่อสู้คดีของผู้ป่วยนิติจิตเวช.

แหล่งที่มา/Source: ประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ, จากหลังคาแดงสู่ชุมชน ระหว่างวันที่ 3-5 กรกฎาคม 2549, หน้า 88.

รายละเอียด / Details:

การกำเริบของอาการทางจิตนั้นเป็นอุปสรรคที่ทำให้ผู้ป่วยนิติจิตเวชไม่สามารถดำเนินตามกระบวนการยุติธรรม สูญเสียโอกาสทางสังคม และเพิ่มภาระการดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาล และในเรือนจำ ซึ่งการติดตามผู้ป่วยนั้นจะทำให้ทราบถึงประสิทธิผล และปัญหาอุปสรรคของการบำบัดรักษา เพื่อนำผลมาพัฒนาคุณภาพการบริการของสถาบันฯต่อไป จากปัญหาดังกล่าวคณะผู้วิจัยจึงดำเนินการวิจัยติดตามความสามารถของการต่อสู้คดีของผู้ป่วยนิติจิตเวชหลังจำหน่าย ซึ่งเป็นการวิจัยเชิงพรรณนา โดยการศึกษาย้อนหลัง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกกษา 1) อัตราความสามารถในการต่อสู้คดีของผู้ป่วยนิติจิตเวช 2) อัตราการป่วยซ้ำจนไม่สามารถต่อสู่คดีได้ 3) สาเหตุของการป่วยซ้ำจนไม่สามารถต่อสู้คดีได้ 4) ระยะเวลาเฉลี่ยในการต่อสู้คดีของผู้ป่วยนิติจิตเวชในกระบวนการยุติธรรมหลังจำหน่าย กลุ่มตัวอย่างประกอบด้วย ผู้ป่วยนิติจิตเวชจำนวน 193 ราย ที่ศาล/เจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือญาติ ส่งมาตรวจวินิจฉัยว่าวิกลจริตหรือไม่ ต่อสู้คดีได้หรือไม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 14 และเป็นผู้ที่ถูกจำหน่ายออกจากสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2542 ถึง 30 กันยายน 2545 โดยแบ่งการเก็บข้อมูลออกเป็น 2 ระยะ ดังนี้ ระยะที่ 1 ข้อมูลจากเวชระเบียนผู้ป่วยตั้งแต่เดือนมีนาคม ถึงสิงหาคม 2547 ระยะที่ 2 ข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมหลังจำหน่ายออกจากสถาบันฯ ตั้งแต่เดือน กันยายน 2547 ถึงพฤษภาคม 2548 แบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น ส่งมาโดย ศาล 159 ราย เจ้าหน้าที่ตำรวจ 34 ราย ได้ข้อมูลกลับมาครบ 183 ราย ศาลยังไม่มีคำพิพากษา 10 ราย โดยใช้แบบบันทึกข้อมูลที่คณะผู้วิจัยสร้างขึ้น วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่ามัธยฐาน และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการวิจัย พบว่าผู้ป่วยนิติจิตเวชส่วนใหญ่มีการวินิจฉัยโรคจิตเภท ร้อยละ 60.6 ส่วนใหญ่กระทำผิดต่อร่างกาย และทรัพย์ ร้อยละ 29.0 และ 26.9 ตามลำดับ อัตราความสามารถในการต่อสู้คดีจนศาลพิพากษาพบร้อยละ 77.9 อัตราการป่วยซ้ำจนไม่สามารถต่อสู้คดีได้พบร้อยละ 26.4 สาเหตุส่วนใหญ่ขาดการรักษาด้วยยาทางจิตเวชร้อยละ 57.1 อาการกำเริบไม่ได้รับการรักษาร้อยละ 9.5 และเสพยาบ้าหรือดื่มสุรา ภายหลังได้รับการประกันตัวร้อยละ 4.8 ระยะเวลาเฉลี่ยในการต่อสู้คดีหลังจำหน่าย ถึงวันที่ศาลพิพากษา ส่วนใหญ่อยู่ภายใน 180 วัน ร้อยละ 50 การดำเนินคดีของพนักงานสอบสวน พบว่ากลุ่มตัวอย่าง มีความสามารถในการต่อสู้คดีร้อยละ 91.2 และต่อสู้คดีไม่ได้ถาวร ร้อยละ 2.9 ซึ่งพบในรายที่ได้รับการวินิจฉัยโรคจิตเภท กลับมารักษาซ้ำระหว่างถูกดำเนินคดีร้อยละ 5.9 เนื่องจากรับประทานยาไม่ต่อเนื่อง และส่งกลับมาตามคำแนะนำของศาลร้อยละ 3 เท่ากัน ระยะเวลาเฉลี่ยในการต่อสู้คดีหลังจำหน่ายออกจากสถาบันฯ ภายใน 1 สัปดาห์ ค่ามัธยฐานเท่ากับ 2 วัน ผลการวิจัยนี้เป็นประโยชน์ต่อการกำหนดแผนการดำเนินการจัดบริการจิตเวชในเรือนจำ ตลอดจนญาติเองควรดูแลให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง และเฝ้าระวังการใช้สารเสพติดกรณีผู้ป่วยได้รับการประกันตัว

Keywords: นิติจิตเวช, คดี, ผู้ป่วยจิตเวช, กระบวนการยุติธรรม, ต่อสู้คดี, โรคจิตเภท, ศาล, กฎหมาย, คดีอาญา, คำพิพากษา, สารเสพติด, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์

ปีที่เผยแพร่/Year: 2549

Address: โรงพยาบาลจิตเวชนครพนมราชนครินทร์

Code: 200600039

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ

Download: -