ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: วัชนี หัตถพนม.

ชื่อเรื่อง/Title: การพัฒนาศักยภาพของพยาบาลวิชาชีพในศูนย์สุขภาพชุมชนในการใช้วิธีการปรับแนวคิด และพฤติกรรมแบบประยุกต์ เพื่อลดภาวะซึมเศร้าในผู้ป่วยเบาหวาน Type 2.

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 6, เรื่อง สุขภาพจิต : ชีวิตชาวเมือง วันที่ 1-3 สิงหาคม 2550 ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพมหานคร หน้า 114.

รายละเอียด / Details:

ความสำคัญ โรคเบาหวาน เป็นโรคที่ถูกจัดลำดับความรุนแรงและความสำคัญของโรคภัยไข้เจ็บอยู่ในอันดับ 6 และพบว่า ร้อยละ 15-20 มักมีภาวะซึมเศร้าร่วมด้วย และ 2 ใน 3 ของผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้า ไม่เคยบำบัดรักษาใดๆ มาก่อน การประเมินภาวะซึมเศร้าในกลุ่มเสี่ยงนี้ตั้งแต่ระยะะเริ่มแรก และให้การบำบัดจะช่วยไม่ให้ผู้ป่วยเกิดโรคซึมเศร้าตามมา วัตถุประสงค์ เพื่อให้พยาบาลในศูนย์สุขภาพชุมชน สามารถประยุกต์ใช้การบำบัด ด้วยการปรับแนวคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy หรือ CBT) เพื่อลดภาวะซึมเศร้าในผู้ป่วยเบาหวาน Type 2 วิธีการศึกษา เป็นโครงการพัฒนาเทคโนโลยีในการบำบัดผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า โดยใช้แนวทางเข้าสู่ระบบ (System approach) เป็นกรอบแนวคิดในการดำเนินงาน พยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ มีจำนวน 14 คน ได้รับการพัฒนาศักยภาพโดยการสอนงาน (Coaching) คือ 1). จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ 2 วัน ตามแผนการสอนที่ผู้ศึกษาพัฒนาขึ้น จากนั้นให้ผู้เข้ารับการอบรมนำความรู้ และทักษะที่ได้ไปทดลองปฏิบัติจริงกับผู้ป่วยเบาหวานที่มีภาวะซึมเศร้าระดับอ่อนขึ้นไป โดยใช้แบบประเมินความซึมเศร้า Thai Depression Inventory (TDI) ซึ่งมีคะแนนตั้งแต่ 21 คะแนนขึ้นไป ทำการบำบัดด้วย CBT แบบประยุกต์ จำนวน 6 ครั้งๆ ละ 60-90 นาที โดยสัปดาห์แรก 2 ครั้ง ห่างกัน 3 วัน สัปดาห์ต่อไป สัปดาห์ละ 1 ครั้ง จำนวน 3 สัปดาห์ หลังจากนั้นเว้นช่วงห่าง 1 เดือน จึงพบอีก 1 ครั้ง เพื่อประเมินผลการบำบัดและยุติบริการ 2). สอนงานขณะบำบัดโดยการติดตามเยี่ยมอย่างน้อย 1-2 ครั้ง ในช่วง 2 เดือนที่บำบัด 3). ติดตามผลการดำเนินงานในภาพรวม โดยการจัดประชุมประเมินผลการดำเนินในงานภายหลังอบรม 1-2 เดือน ผลการศึกษา พยาบาลมีความรู้และสมรรถนะในการประยุกต์ใช้ CBT สามารถบำบัดผู้ป่วยเบาหวาน Type 2 ที่มีภาวะซึมเศร้า จำนวน 20 คน บำบัดครบตามโปรแกรม จำนวน 15 ครั้ง ทั้งนี้ ก่อนบำบัดผู้ป่วยมีภาวะซึมเศร้าระดับอ่อน 6 คน ปานกลาง 7 คน รุนแรง 2 คน หลังการบำบัด 15 คน ภาวะซึมเศร้าลดลง สรุปผลการศึกษา ได้พัฒนาเทคโนโลยีเป็นโปรแกรมสำเร็จรูปประกอบด้วย แผนการสอนของวิทยากรพร้อมวิดิทัศน์ คู่มือผู้เข้ารับการอบรม คู่มือสำหรับผู้ป่วย แบบประเมินที่เกี่ยวข้องเพื่อทราบว่าพยาบาลมีศักยภาพในการบำบัด และผู้ป่วยมีภาวะซึมเศร้าลดลง โดยผ่านการสอนงานอย่างเป็นระบบ ข้อเสนอแนะ ผลการศึกษาที่ได้รับในครั้งนี้สรุปว่า CBT จะเป็นแนวทางในการขยายผลการดำเนินงานพัฒนาศักยภาพพยาบาล PCU ให้สามารถประยุกต์ใช้ CBT เพื่อลดภาวะซึมเศร้าในผู้ป่วยเบาหวาน Type 2 เพื่อช่วยป้องกันผู้ป่วยกลุ่มนี้ไม่ให้กลายเป็นโรคซึมเศร้าในอนาคต

Keywords: ภาวะซึมเศร้า, โรคเบาหวาน, ศูนย์สุขภาพชุมชน, พฤติกรรมบำบัด, พยาบาลวิชาชีพ, เทคโนโลยี, cognitive behaviour therapy ,CBT

ปีที่เผยแพร่/Year: 2550

Address: โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์.

Code: 2007000134

ISSN/ISBN: 2859-497-X

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในการประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 6

Download: