ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: วัชนี หัตถพนม

ชื่อเรื่อง/Title: พิธีไล่ผีปอบในช่วงการประชุม APEC : ผลการช่วยเหลือภาวะวิกฤตชุมชน

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการนานาชาติ ครั้งที่ 2, สุขภาพจิตกับยาเสพติด ปี 2546, หน้า 189-190. (วันที่ 19-21 สิงหาคม 2546 ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์ กรุงเทพมหานคร)

รายละเอียด / Details:

สืบเนื่องจากพิธีขับไล่ผีปอบ จังหวัดขอนแก่น ในวันที่ 3 มิถุนายน 2546 และทำพิธีในช่วงการประชุม APEC วันสุดท้าย ทีมจิตเวชฉุกเฉินจึงรับดำเนินการช่วยเหลือ เพื่อลดภาวะวิกฤตชุมชน วัตถุประสงค์ 1. สำรวจปัญหา สาเหตุ และวางแผนหาแนวทางแก้ไขปัญหา 2. ศึกษาผลการช่วยเหลือเพื่อลดภาวะวิกฤตในชุมชน ขอบเขตการวิจัย ทำการศึกษาผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ การเกิดข่าวลือเรื่องผีปอบ ณ บ้านกุดกว้าง ตำบลเมืองเก่า และแหล่งสนับสนุนในชุมชน วิธีดำเนินงาน 1. ได้รับแจ้งจากเครือข่าย ในวันที่ 3 มิถุนายน 2546 ได้ประสานงานจัดทีมลงพื้นที่ เพื่อสังเกตการณ์พิธีขับไล่ผีปอบและวิเคราะห์สถานการณ์เบื้องต้น 2. ประสานงาน สถานีอนามัยเพื่อทราบสาเหตุการตายและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 3. ประชุมร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและผู้นำชุมชน เพื่อวิเคราะห์เหตุการณ์และหาแหล่งสนับสนุนช่วยเหลือแก้ไขปัญหาในชุมชน 4. วางแผนการแก้ไขปัญหาร่วมกับพื้นที่ 5. แบ่งทีมสุขภาพจิตออกเป็น 3 ทีม ร่วมปฏิบัติงานกับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ เพื่อลดภาวะวิกฤติชุมชน ทีมที่ 1 พบผู้นำชุมชนที่ไม่เชื่อเรื่องนี้ให้ช่วยเป็นแกนนำในการให้ข้อมูลที่เป็นจริง ทีมที่ 2 ให้การช่วยเหลือทางจิตใจผู้ถูกกล่าวหา ทีมที่ 3 ให้การช่วยเหลือทางจิตใจแก่เด็กนักเรียนที่ถูกผีปอบ เข้าสิง 6. ประเมินผลการช่วเหลือ สรุปผลการดำเนินงาน 1. จากการสำรวจปัญหาพบว่าข่าวลือเกิดจาก น.ส.ก. (นามสมมติ) มีอาการหมดสติบนหลังคาขณะไปปรับเสาอากาศโทรทัศน์ โดยมีเรื่องทะเลาะวิวาทกับน้าก่อนมีอาการ ญาตินำส่งโรงพยาบาล ทางโรงพยาบาลบอกว่าไม่มีอาการผิดปกติให้กลับบ้าน แต่ น.ส.ก. ยังไม่ดีขึ้น ญาติจึงนำพระมาทำพิธี ผู้ป่วยอาการดีขึ้น โดยก่อนรู้สึกตัวบอกว่ามีปอบชื่อนางไร มาเข้าสิง จึงเกิดข่าวลือและนำเรื่องราวไปผูกกับการตายของคนในหมู่บ้านใน 8 เดือน ที่ผ่านมาซึ่งมีคนตาย 20 คน จึงจัดพิธีไล่ผีปอบขึ้น พระที่ทำพิธีบอกว่าจับปอบได้ 39 ตัว ผลของข่าวลือนี้มีผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นปอบ 2 คน 2. การวิเคราะห์ปัญหา พบว่ามีผู้นำชุมชนทั้งที่เชื่อและไม่เชื่อเรื่องนี้ และมีผู้ใหญ่บ้านเป็นแกนนำการทำพิธี นอกจากนี้ยังเป็นช่วงใกล้เลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านคนใหม่ ผู้ใหญ่บ้านจึงนำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อสร้างศรัทธาให้แก่คนในชุมชน และหนึ่งในผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นปอบเคยเห็นผู้ใหญ่บ้านตัดไม้ในป่า และกำลังมีคดีขึ้นศาลเรื่องยังไม่แล้วเสร็จ สำหรับผู้ถูกกล่าวหานางไร มีบุคลิกภาพคล้ายทอม พกเครื่องลางของขลังมากมาย และสักลายตามตัว และคิดว่าตนเองเป็๋นร่างทรงของกุมารทอง จึงทำให้ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นปอบ 3. ผลการช่วยเหลือได้ลดวิกฤตชุมชนด้านข่าวลือ โดยให้ข้อมูลการตายที่แท้จริงแก่ประชาชนในหมู่บ้าน โดยอาศัยผู้นำชุมชนที่ไม่เชื่อในเรื่องนี้ ได้แก่ เจ้าอาวาสวัด อาจารย์ในโรงเรียน ประธานชมรม เจ้าหน้าที่สาธารณสุข โดยใน 8 เดือน ตาย 20 คน เป็นโรคทางกาย 16 คน ผูกคอตาย 1 คน ไม่ทราบสาเหตุ 3 คน ให้ การช่วยเหลือทางด้านจิตใจผู้ถูกกล่าวหาโดยการให้การปรึกษา สำหรับ น.ส.ก. ได้ให้การปรึกษาพบว่ามีปัญหาครอบครัวยากจน มีหนี้สินและแม่ไม่ต้องการให้เรียนต่อ ได้ประสานงานกับอาจารย์ในโรงเรียนให้ทราบเรื่องนี้ และพิจารณาให้การช่วยเหลือ ภายหลังเกิดเหตุการณ์ 1 สัปดาห์เหตุการณ์ทั่วไปสงบลง ข้อเสนอแนะ การลดวิกฤตชุมชนครั้งนี้ สามารถดำเนินงานได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากอาศัยศักยภาพของแกนนำในชุมชนช่วยเหลือแก้ไขปัญหา

Keywords: APEC, ผีปอบ, จิตเวชฉุกเฉิน, วิกฤตชุมชน, ประชุมวิชาการกระทรวง, สุขภาพจิตชุมชน, สุขภาพจิต, วิกฤติสุขภาพจิต, ปอบ, ความเชื่อ, ผี, ปัญหาสุขภาพจิต

ปีที่เผยแพร่/Year: 2546

Address: โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราขนครินทร์ กรมสุขภาพจิต

Code: 00000069

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -