ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: นิภาพร ลครวงศ์

ชื่อเรื่อง/Title: สร้างสรรค์เด็กยุคใหม่สำหรับเด็กวัยเรียน ปี 2543

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 6 วันที่ 6-8 กันยายน 2543

รายละเอียด / Details:

เด็กวัยเรียน เป็นวัยที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีพัฒนาการเรียนรู้อย่างมาก นับเป็นช่วงที่สำคัญในการปรับตัว กลุ่มงานจิตเวช โรงพยาบาลยโสธร ซึ่งรับผิดชอบการส่งเสริม ป้องกัน แก้ไขและดูแลช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาคน จึงได้จัดทำโครงการสร้างสรรค์เด็กยุคใหม่ สำหรับเด็กวัยเรียนขึ้นเพื่อเป็นการเพิ่มพูนความรู้ ประสบการณ์ในการปรับตัวและส่งเสริมบุคลิกภาพแก่เด็ก กลุ่มเป้าหมายเป็นบุตรหลานเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลยโสธร ที่มีอายุ 6-12 ปี มีความสมัครใจเข้าร่วมโครงการจำนวน 60 คน แบ่งออกเป็น 2 รุ่น รุ่นที่ 1 อายุ 6-8 ปี จำนวน 30 คน รุ่นที่ 2 อายุ 9-12 ปี จำนวน 30 คน หลักสูตรการอบรม 2 วัน ประกอบด้วยกิจกรรมสร้างเสริมความสัมพันธ์กับผู้อื่น การสร้างสรรค์บุคลิกภาพที่ดี เสริมสร้างมารยาทที่ดีในการเดิน การนั่ง การไหว้แบบต่าง ๆ การศึกษาพุทธสถานที่สำคัญของจังหวัดยโสธร การฝึกนั่งสมาธิ การเสริมความรู้เรื่องสุขภาพ ฝึกความคิดสร้างสรรค์ ด้วยเกมส์กลสมองและกิจกรรมต่อรูปเพื่อฝึกการทำงานเป็นทีม ฝึกการบริหารสมอง (Brain gym) ฝึกสื่อสารด้วยภาษาสากลและสร้างสรรค์ความสามารถด้วยตนเองในการแสดงกิจกรรมเป็นกลุ่ม คือการแสดงรำวงมาตรฐาน การประเมินผลโดยใช้แบบสอบถาม การสังเกต และการสัมภาษณ์ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติบรรยายและนำเสนอข้อมูลในรูปร้อยละ ผลการดำเนินงาน พบว่า ผู้เข้าร่วมการอบรมมีความกระตือรือร้นและให้ความสนใจมีส่วนรวมในกิจกรรมทุกกิจกรรม อยู่ในระดับดีมาก จากการตอบแบบสอบถามของผู้เข้าอบรม คิดว่าการอบรมครั้งนี้กิจกรรมมีประโยชน์ต่อผู้เข้าอบรม อยู่ในระดับมาก คิดเป็นร้อยละ 95.23 มีความเหมาะสมทั้งในด้านเวลา สถานที่ วิทยากร และกิจกรรม ก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของผู้เข้าอบรม การอบรมช่วยให้เข้าใจตนเองและผู้อื่น อยู่ในระดับมาก คิดเป็นร้อยละ 81.91 ได้ค้นพบความสามารถของตนเอง และมีความมั่นใจในการนำกิจกรรมไปใช้ประโยชน์อยู่ในระดับมาก คิดเป็นร้อยละ 90.25 สรุปผลและข้อเสนอแนะ การจัดโครงการครั้งนี้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ แต่การดำเนินงานยังพบปัญหาและอุปสรรคอยู่บ้าง เป็นต้นว่าบุคลากรไม่เพียงพอต่อการดูแลเด็กได้อย่างทั่วถึง ดังนั้นในการจัดกิจกรรมครั้งต่อไปควรมีการเตรียมการด้านนี้ให้มากขึ้น และพิจารณาความเหมาะสมในการเข้าร่วมกิจกรรมบางกิจกรรมของเด็กที่มีความแตกต่างกันในเรื่องของอายุ

Keywords: เด็ก, จิตเวชเด็ก, child, children, child psychiatry

ปีที่เผยแพร่/Year: 2543

Address: กลุ่มงานจิตเวช โรงพยาบาลยโสธร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข

Code: 201430006284

ISSN/ISBN: 974-293-644-7

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -