ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: วนิดา พุ่มไพศาลชัย, พันธุ์นภา กิตติรัตนไพบูลย์, กิตติพงศ์ สานิชวรรณกุล

ชื่อเรื่อง/Title: แบบจำลองคณิตศาสตร์อย่างง่ายสำหรับทำนายขนาดปกติของยาลิเธียมที่ผู้ป่วยไทยแต่ละคนต้องการ

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัย,พ.ศ. 2540

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์ในการศึกษาครั้งนี้ก็เพื่อหาแบบจำลองทางคณิตศาสตร์อย่างง่ายประมาณขนาดยาล่วงหน้าถ้าใช้แล้วจะให้ระดับความเข้มข้นของลิเธียมในซีรั่มอยู่ในช่วงที่ให้ผลการรักษาตามที่ต้องการ โดยทำการศึกษาในผู้ป่วยจำนวน 74 คน ได้รับการรักษาด้วยลิเธียมคาร์บอเนตแบบแคบซูลอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ทำการเก็บข้อมูลต่าง ๆ ของผู้ป่วยดังนี้ เพศ อายุ น้ำหนักตัว น้ำหนักตัวในอุดมคติ พื้นที่ผิวของร่างกาย ระดับครีเอตินีนในซีรั่ม ค่าการกำจัดครีเอตินีนออกทางไต ยาต้านอาการทางจิตอื่น ๆ ที่ใช้ร่วม ขนาดปกติของลิเธียมที่แพทย์สั่งใช้ในแต่ละวัน และระดับความเข้มข้นของลิเธียมในซีรั่ม ทำการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างขนาดปกติของลิเธียมที่ใช้กับตัวแปรต่าง ๆ ของผู้ป่วยที่เก็บรวบรวมได้ โดยใช้การวิเคราะห์ด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ปัจจัยใดที่พบว่ามีความสัมพันธ์กับขนาดปกติของลิเธียมที่ใช้ นำมาวิเคราะห์ด้วยโปรแกรมการถดถอยพหุคูณ เพื่อหาแบบจำลองที่สามารถประมาณขนาดของลิเธียมที่จะใช้ได้ จากนั้นหาค่าแตกต่างที่สมบูรณ์และร้อยละของความแตกต่างของขนาดปกติที่ใช้จริงกับขนาดของลิเธียมที่ได้จากการคำนวณด้วยรูปแบบสมการถดถอยพหุคูณ เพื่อหาความสามารถในการทำนายของสมการที่ได้นั้น ผลจากการศึกษาในครั้งนี้พบว่า วิธีขนาดยาโดยอิงอยู่บนพื้นฐานค่าตัวแปรต่าง ๆ ของผู้ป่วยนั้น สามารถนำมาทำนายขนาดยาลิเธียมที่ต้องการใช้ในแต่ละวันเพื่อให้ระดับยาในซีรั่มอยู่ในช่วงที่ต้องการให้การรักษา รูปแบบทางคณิตศาสตร์อย่างง่ายที่สุดที่ศึกษาได้ในครั้งนี้คือ ขนาดปกติ (มก/วัน) = 177.71 ระดับลิเธียมในซีรั่มที่ต้องการ (มิลลิอิควิวาเลนซ์/ลิตร) + 4.63 น้ำหนักตัว (กก.) + 402.06 แบบจำลองที่ได้จากการศึกษาครั้งนี้สามารถใช้ทำนายขนาดยาได้ค่อนข้างแม่นยำนอกจากนี้ยังพบว่าค่าการขจัดครีเอตินีนออกทางไตไม่ได้ช่วยให้ความสามารถในการทำนายขนาดยาดีขึ้นเลย ความแตกต่างสมบูรณ์ระหว่างขนาดยาที่ใช้จริงกับขนาดยาที่ได้จากการคำนวณด้วยสมการนี้ มีค่าเฉลี่ยเป็น 119.59 + .57 มก/วัน โดยมีช่วงของขนาดยาที่ทำนายได้ต่ำกว่าขนาดที่ใช้จริง 26.45% จนถึงสูงกว่าขนาดที่ใช้จริง 44.35% เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจหาระดับลิเธียมในซีรั่มหลาย ๆ ครั้ง และระยะเวลาในการสุ่มลองใช้ยา อีกทั้งเพื่อให้ได้ระดับยาในซีรั่มอยู่ในช่วงที่ให้ผลการรักษาได้เร็วขึ้น หลาย ๆ วิธีถูกนำมาใช้ทำนายขนาดปกติของลิเธียมสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย แบบจำลองที่ได้จากการศึกษาในครั้งนี้ก็เป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยให้การเริ่มต้นใช้ลิเธียมในการรักษาผู้ป่วยเป็นไปได้ดีขึ้น น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่าการใช้ขนาดยาอย่างไม่มีหลักเกณฑ์ใด ๆ นอกจากนี้ขนาดยาที่ทำนายได้ในแต่ละคนจะสูงกว่าที่ต้องการไม่เกิน 44.35% ด้วยเหตุนี้ถ้าเลือกให้ระดับยาในซีรั่มเป็น 1.0 มิลลิอิควิวาเลนซ์/ลิตร ความเข้มข้นที่ได้จะไม่สูงเกินกว่า 1.5 มิลลิอิควิวาเลนซ์/ลิตร ซึ่งเป็นระดับที่จะเกิดพิษ

Keywords: drug, lithium, pharmacy, psychiatry, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, ยา, ลิเธียม

ปีที่เผยแพร่/Year: 2540

Address: โรงพยาบาลสวนปรุง กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 305400000004

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -