ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: สุลี ตังกุ

ชื่อเรื่อง/Title: จากโซ่ตรวน สู่โซ่ใจ : กรณีศึกษา

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 7 ปี 2544 "ความสุขที่พอเพียง" วันที่ 5-7 กันยายน 2544. หน้า 127

รายละเอียด / Details:

ผู้ป่วยโรคจิตมักมีปัญหาเรื่อง "การขาดยารักษาไม่สม่ำเสมอไม่ต่อเนื่อง ทำให้ผู้ป่วยอาการกำเริบ" หากญาติไม่เข้าใจในเรื่องการดูแลหรือมีความเชื่อที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับสาเหตุของการเกิดโรค จะทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาและดูแลที่ไม่ถูกต้อง อาการจะเป็นมากขึ้น จนกระทั่งกลายเป็นโรคเรื้อรัง ญาติหมดหนทาง สิ้นหวังที่จะไปพาไปรักษา จึงปล่อยปละละเลยในเรื่องของการรักษา หากแต่จะใช้วิธีของตนในการดูแลโดยการล่ามขังแทนซึ่งจะเป็นผลดีต่อญาติเพราะผู้ป่วยไม่ไปทำความเดือดร้อนให้ครอบครัวและชุมชน ญาติไปทำมาหากินได้โดยไม่ต้องห่วงกังวลในทางกลับกันตัวผู้ป่วยเองถูกทอดทิ้ง ถูกกีดกันออกจากสังคมโดยไม่ได้เจตนา คุณภาพของชีวิตต่ำลง ขาดอิสรภาพ มีชีวิตเหมือนคน แต่ไม่ได้อยู่อย่างคน และผู้ป่วยจะถูกล่ามขังอยู่อย่างนี้ตลอดไป ใครจะเป็นผู้ปลดโซ่ตรวนให้แก่ผู้ป่วยโรคจิต จากกรณีศึกษา ผู้ป่วยเป็นชาวไทย โสด อายุ 59 ปี ถูกล่ามโซ่ที่ข้อเท้าขวามานาน 32 ปี ผู้ป่วยเริ่มมีอาการทางจิตมาตั้งแต่อายุ 21 ปี เคยรักษาตัวในโรงพยาบาล 2-3 ครั้ง เมื่อกลับไปอยู่บ้านจะขาดยาทุกครั้งทำให้อาการทางจิตกำเริบ ดุร้าย ญาติส่งไปรักษาตามวัดต่างๆ จะได้กินยาหม้อและล่ามโซ่ไว้ใต้ถุนกุฏิ ญาติพาไปรักษาหลายวัดแต่อากรยังคงเดิมไม่ดีขึ้น ทุกวัดที่ไปจะถูกล่ามโซ่ เมื่อกลับมาบ้านจึงถูกล่ามโซ่โดยปลูกกระต๊อบให้และล่ามไว้ในสวนมะพร้าวเป็นเวลา 20 ปี ก่อนที่จะย้ายมาล่ามโซ่ที่บ้านโดยปลุกเพิงให้อยู่มีแต่หลังคาและกระดาน 2 แผ่น สำหรับนั่งนอนล่ามโซ่ที่บ้านต่ออีก 12 ปี ปัจจุบันญาติผู้ป่วยได้ปลดโซ่ออกให้แล้ว และขณะปลดโซ่ญาติมีความมั่นใจว่า ผู้ป่วยจะไม่ดุร้ายและไม่ทำร้ายคนในครอบครัวอีก เนื่องจากได้ทดลองปลดโซ่เป็นระยะๆ และสังเกตดูอาการของผู้ป่วย เมื่อญาติแน่ใจและมั่นใจว่าผู้ป่วยจะไม่ทำร้าย จึงเอาโซ่ออกและให้อยู่กับครอบครัว เหมือนคนปกติ ผู้ป่วยรายนี้เป็นผู้ป่วยถูกล่ามโซ่มานาน 32 ปี หลังจากได้รับการรักษาเพียง 2 สัปดาห์โดยการรักษาที่บ้าน ผู้ป่วยอาการดีขึ้นและร้องขอให้ญาติเอาโซ่ออก ญาติจึงทดลองเอาโซ่ออกในช่วงสัปดาห์แรกหลังได้รับการรักษา ปัจจุบันผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีความเป็นอยู่เหมือนคนปกติ ครอบครัวอบอุ่นและภูมิใจที่ตนเองสามารถปลดโซ่ให้ผู้ป่วยได้ รวมทั้งเป็นตัวอย่างให้แก่ผู้ป่วยรายอื่นๆ ได้ จะเห็นได้ว่าหากญาติมีความรู้เรื่องโรคและการดูแลรักษาที่ถูกต้อง มีเจตคติที่ดีต่อผู้ป่วยโรคจิต และได้ให้การดูแลด้วยตนเอง ญาติจะเห็นการเปลี่ยนแปลงของผู้ป่วยไปในทางที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน จึงทำให้เกิดความมั่นใจที่จะเอาโซ่ออก และที่สำคัญ ถ้าหากบุคลากรสาธารณสุขในพื้นที่ไม่ใส่ใจดูแลเยี่ยมเยียนเป็นระยะๆ ผู้ป่วยยังคงถูกล่ามขังต่อไป คงไม่มีใครสำคัญกว่าใครระหว่างครอบครัวกับบุคลากรสาธารณสุข แต่ทุกคนสำคัญเท่ากัน มีการเกื้อหนุนและส่งเสริมตามบทบาทหน้าที่ของตน จนก่อให้เกิดความสุขในสังคม

Keywords: โซ่ตรวน, โซใจ, ผู้ป่วยโรคจิต, โรคจิต, ล่ามขัง, ล่ามโซ่, จิตเวช, โรคทางจิต, psychiatry

ปีที่เผยแพร่/Year: 2543

Address: กรมสุขภาพจิต,กระทรวงสาธารณสุข

Code: 000048

ISSN/ISBN: 974-296-076-3

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -