ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ศิริลักษณ์ สว่างวงศ์สิน

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้ป่วยจิตเวชที่รักษาด้วยยาต้านโรคจิต โรงพยาบาลศรีธัญญา

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 7 ปี 2544 "ความสุขที่พอเพียง" วันที่ 5-7 กันยายน 2544. หน้า 131

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้ป่วยที่รักษาด้วยยาต้านโรคจิต และความต้องการของผู้ป่วยจิตเวชโรงพยาบาลศรีธัญญา เนื่องในปีสุขภาพจิตโลก กลุ่มตัวอย่าง เป็นผู้ป่วยที่ใช้บริการแผนกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลศรีธัญญา จำนวน 200 คน สุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง เก็บรวบรวมข้อมูลตั้งแต่ เมษายน - มิถุนายน 2544 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มตัวอย่างมีความยุ่งยากมากขึ้นในชีวิตจากการป่วยทางจิต มากที่สุดในด้านเศรษฐกิจ ร้อยละ 59.5 รองลงมา ด้านครอบครัวและด้านการทำงาน ร้อยละ 40.0 และร้อยละ 32.5 ตามลำดับ ผลของการรักษาที่สำคัญที่สุดของผู้ป่วย ได้แก่ การควบคุมอารมณ์ได้ ร้อยละ 50.5 รองลงมา ได้แก่ การมีชีวิตตามปกติ ร้อยละ 49.5 พบว่ากลุ่มตัวอย่าง มีอาการข้างเคียงจากการใช้ยาต้านโรคจิต แยกรายละเอียดตามอาการต่างๆ อยู่ระหว่างร้อยละ 8.0-53.5 อาการที่พบมากที่สุดได้แก่ ง่วงเซื่องซึม ซึ่งอาการข้างเคียงดังกล่าวมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต ร้อยละ 41.0 โดยทำให้ขาดความเชื่อมั่นที่จะอยู่คนเดียว ร้อยละ 27.5 ครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่างเคยหยุดยาหรือลดขนาดยาที่รับประทานเพราะอาการข้างเคียง และเคยมีอาการกำเริบเพราะไม่ได้รับประทานยาหรือลดขนาดยาโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากแพทย์ ร้อยละ 45.5 ร้อยละ 52.0 ไม่ทราบว่ารับประทานยาอะไรบ้าง ส่วนใหญ่ได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับยาต้านโรคจิต จากแพทย์ ร้อยละ 66.0 พยาบาลร้อยละ 44 เภสัชกรร้อยละ 7.0 นักสังคมสงเคราะห์ ร้อยละ 5.5 และร้อยละ 12.0 ไม่ได้รับข้อมูลใดๆ จากบุคลากร ความต้องการ/ปรารถนาของผู้ป่วยจิตเวชกลุ่มตัวอย่าง เนื่องในปีสุขภาพจิตโลกมากที่สุด ได้แก่ การไม่กลับมาป่วยซ้ำอีก ร้อยละ 67.0 รองลงมาได้แก่ การสามารถซักถามแพทย์ได้อย่างละเอียดระหว่างการรักษา การมีงาน/รายได้ที่มั่นคง การมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น การยอมรับและสนับสนุนจากสังคม ร้อยละ 52.0 51.5 39.0 และ 36.0 ตามลำดับ สิ่งที่ต้องการให้ปรับปรุงเกี่ยวกับยาต้านโรคจิต ได้แก่ อาการข้างเคียงที่เกิดขึ้น ราคายาที่แพง และรายละเอียดข้อมูลแนะนำต่างๆ ของยา สำหรับด้านบริการ คือบริการที่ช้า รอนาน จากการศึกษาครั้งนี้ ชี้ให้เห็นว่า ควรมีการพัฒนา/ปรับปรุงระบบบริการ ในด้านการให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับผลต่อเนื่องของการรักษาด้วยยาต้านโรคจิต วิธีการปฏิบัติในการดูแลตนเอง รวมทั้งการจัดบริการอื่นๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ป่วยจิตเวช

Keywords: ผู้ป่วยจิตเวช, ยาต้านโรคจิต, โรคจิต, ผลกระทบการดำเนินชีวิต, จิตเวช, psychiatry

ปีที่เผยแพร่/Year: 2543

Address: กรมสุขภาพจิต,กระทรวงสาธารณสุข

Code: 000052

ISSN/ISBN: 974-296-076-3

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -