ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: รัตติยา ทองแสง

ชื่อเรื่อง/Title: การพัฒนารูปแบบการดูแลผู้ป่วยโรคจิตโดยเครือข่ายสุขภาพจิต จังหวัดอุบลราชธานี

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 7 ปี 2544 "ความสุขที่พอเพียง" วันที่ 5-7 กันยายน 2544. หน้า 76

รายละเอียด / Details:

การวิจัยเชิงปฏิบัติการนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อลดภาระของญาติในการดูแลผู้ป่วยโรคจิต พัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และพัฒนารูปแบบการดูแลผู้ป่วยโรคจิต ประชากรที่ศึกษาประกอบด้วยญาติผู้ดูแลผู้ป่วย จำนวน 16 คน เจ้าหน้าที่สาธารณสุข จำนวน 26 คน และประชาชน จำนวน 70 คน โดยการสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลได้แก่ แผนการจัดกลุ่มประคับประคองและจิตศึกษาคู่มือการจัดกิจกรรมการมีส่วนร่วมแบบสัมภาษณ์ แบบทดสอบความรู้ แบบวัดภาระผู้ดูแล แบบประเมินทัศนคติ และประเมินพฤติกรรม ผู้ป่วย ซึ่งผ่านการตรวจสอบการทดลองใช้ และหาค่าเชื่อมั่นโดยใช้สัมประสิทธิ์อัลฟาของครอยบาค ได้ค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.81,0.76 และ0.97 ตามลำดับ ดำเนินการวิจัยโดยการจัดกลุ่มประคับประคองและจิตศึกษา อบรมเจ้าหน้าที่และจัดกิจกรรมการมีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วยโรคจิต วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ เปรียบเทียบความแตกต่างโดยใช้สถิติ Wilcoxon Signed Rank Test และ Mann-Whitney U วิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ โดยการวิเคราะห์เนื้อหาและตีความ ผลการวิจัยพบว่า 1. ภาระของญาติในการดูแลผู้ป่วยโรคจิตภายหลังการจัดกิจกรรมกลุ่มประคับประคองและจิตศึกษาได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ที่ระดับ .01 2.ความรู้เรื่องโรคจิตและการดูแลผู้ป่วยโรคจิตของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ภายหลังการอบรมได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ผู้เข้าอบรมร้อยละ 64.29 เห็นว่าการ อบรมมีประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานมากที่สุด และร้อยละ 35.71 เห็นว่ามีประโยชน์มาก 3. ภายหลังการจัดกิจกรรมการมีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วยโรคจิตในชุมชน ได้นวัตกรรมใหม่ที่เป็นรูปแบบการดูแลผู้ป่วยโรคจิตที่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้ จำนวน 4 โครงการ คือโครงการช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวชโครงการรวมน้ำในสู่ผู้จิตเวช โครงการห่วงใยเพื่อบ้านปลอดสารเสพติด และโครงการผูกมิตรจิตแจ่มใส 4. การประเมินความรู้เรื่องโรคจิต ทัศนคติต่อผู้ป่วยโรคจิต และพฤติกรรมผู้ป่วยโรคจิตตามการรับรู้ของกลุ่มตัวอย่างในภาพรวม ภายหลังดำเนินโครงการ พบว่า เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .01 5. ความก้าวหน้าของโครงการที่ชุมชนร่วมกันจัดขึ้นเพื่อดูแลผู้ป่วยโรคจิตพบว่า เป็นที่น่าพอใจเพราะมีการปฏิบัติตามโครงการแล้ว โดยมีการประชุมชี้แจงโครงการให้ประชาชนทราบ ออกเยี่ยมให้กำลังใจ ผู้ป่วยและครอบครัว และให้ความรู้เรื่องโรคจิตทางหอกระจายข่าวทุกสัปดาห์ ซึ่งคาดว่าจะมีการดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง และขยายผลเครือข่ายงานสุขภาพจิตได้ ทั้งนี้ ต้องมีปัจจัยสนับสนุนอื่นๆ เช่น มีนโยบายและแผนงานที่ชัดเจน มีงบประมาณเพียงพอ และมีการติดตามผลและประเมินผลอย่างต่อเนื่อง

Keywords: ผู้ป่วยโรคจิต, เครือข่ายสุขภาพจิต, เครือข่าย, รูปแบบการดูแล, ภาระผู้ดูแล, จิตเวช, การดูแลผู้ป่วยจิตเวช, network, community psychiatry, psychiatry

ปีที่เผยแพร่/Year: 2544

Address: กรมสุขภาพจิต,กระทรวงสาธารณสุข

Code: 00006

ISSN/ISBN: 974-296-076-3

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -