ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: พัทนี เทียนสุวรรณ

ชื่อเรื่อง/Title: การตัดสินใจในสภาพการเสี่ยงของเด็กปกติและเด็กเกเร

แหล่งที่มา/Source: วารสารจิตวิทยาคลินิก. ปีที่ 6, ฉบับที่ 2, กันยายน 2518, หน้า 47-49

รายละเอียด / Details:

นักจิตวิทยาได้ให้ความสนใจที่จะศึกษาเด็กวัยรุ่นที่มีพฤติกรรมผิดปกติ หรือขัดต่อกฎหมายบ้านเมืองหรือขัดต่อสังคม และจากสถิติจำนวนผู้กระทำผิดที่มีเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ทำให้ผู้วิจัยเกิดความสนใจที่จะศึกษาพฤติกรรมของเยาวชนที่กระทำผิดเหล่านี้ ว่ามีสาเหตุเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจเสี่ยงหรือไม่เพียงใด จึงได้ศึกษาการตัดสินใจในสภาพการเสี่ยงของเด็กและเยาวชนที่กระทำผิดกฎหมาย เปรียบเทียบกับเด็กและเยาวชนที่ยังไม่ได้ทำผิดกฎหมาย โดยจัดสภาพการทดลองที่ต้องมีการเสี่ยงและตั้งสมมุติฐานว่า การตัดสินใจในสภาพการเสี่ยงของเด็กเกเรแตกต่างจากเด็กปกติ ผลของการมีโอกาสเสี่ยงแตกต่างกันจะทำให้เด็กทั้งสองประเภทตัดสินใจเสี่ยงแตกต่างกัน และการตัดสินใจในสภาพการเสี่ยงของเด็กชายและเด็กหญิงทั้งในกลุ่มเด็กเกเรและเด็กปกติแตกต่างกัน วิธีการวิจัย กลุ่มตัวอย่าง คือ เด็กและเยาวชนสุ่มมาจำนวนทั้งหมด 120 คน ชาย 60 คน หญิง 60 คน เด็กเกเรเป็นเด็กและเยาวชนจากสถานพินิจและคุ้มครองเด็กกลาง ชาย 30 คน หญิง 30 คน เด็กปกติเป็นเด็กจากโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย ชาย 30 คน หญิง 30 คน แบ่งเด็ก 2 ประเภทเป็นประเภทละ 3 กลุ่มๆ ล ะ 20 คน ชาย 10 คน หญิง 10 คน ให้แต่ละกลุ่มมีโอกาสเลือกเล่นเกมแตกต่างกัน คือ กลุ่มที่ 1 เล่นได้ 1 ครั้ง กลุ่มที่ 2 เล่นได้ 4 ครั้ง และกลุ่มที่ 3 เล่นได้ 8 ครั้ง ในการทดลองครั้งนี้ ผู้วิจัยได้ควบคุมให้มีระดับฐานะเศรษฐกิจ อายุ ระดับสติปัญญา และระดับการศึกษาใกล้เคียงกัน กล่าวคือ มีระดับฐานะเศรษฐกิจต่ำ รายได้ของครอบครัวต่ำกว่า 1,000บาทต่อเดือน มีอายุระหว่าง 14-19 ปี วัดได้จากแบบทดสอบโปรเกรสชีพแมททรีซีส ชุด เอ บี ซี ดี อี การศึกษาอยู่ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 7 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะศึกษาการตัดสินใจในสภาพการเสี่ยงของเด็กเกเรกับเด็กปกติ โดยมีประเภทของเด็ก เพศ และโอกาสในการเลือกเล่นเป็นตัวแปรอิสระ การตัดสินใจเสี่ยงเป็นตัวแปรตาม ผู้วิจัยได้จัดสภาพการทดลองเป็นรายบุคคล โดยให้ผู้รับการทดลองเลือกเล่นเกมทายเลขที่มีค่าคาดหวังเท่ากัน 4 แบบ แบบที่หนึ่งมีโอกาสถูก 1/2 เงินรางวัลเท่ากับ 1 บาท แบบที่สองมีโอกาสถูก 1/4 เงินรางวัลเท่ากับ 3 บาท แบบที่สามมีโอกาสถูก 1/8 เงินรางวัลเท่ากับ 7 บาท และแบบที่มีโอกาสถูก 1/6 เงินรางวัลเท่ากับ 15 บาท และทุกครั้งที่แทงผิดเสีย 1 บาท เสียเงินค่าแทงครั้งละ 1 บาท สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล วิเคราะห์ความแปรปรวนระหว่างตัวแปร 3 ชุด คือ ประเภท เพศ และโอกาสในการเลือกเล่น และเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยความเสี่ยงของการเลือกแต่ละกลุ่มที่มีโอกาสเลือกเล่น 1, 4 และ 8 ครั้ง และคำนวณหาค่าความน่าจะเป็นของการทายถูกและผิดว่ามีอิทธิพลต่อการเลือกแทงครั้งต่อไปหรือไม่ สรุปผลการวิจัย 1. การตัดสินใจในสภาพการเสี่ยงของเด็กเกเรกับเด็กปกติแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .05 2. โอกาสในการเสี่ยงแตกต่างกัน ทำให้เด็กเกเรและเด็กปกติมีการตัดสินใจที่เสี่ยงแตกต่างกัน เด็กเกเร และเด็กปกติที่มีโอกาสเสี่ยงเพียงครั้งเดียวมีการเสี่ยงแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .01 เด็กเกเรจะเสี่ยงสูงกว่าเด็กปกติ ส่วนเด็กเกเรและเด็กปกติที่มีโอกาสเสี่ยง 4 และ 8 ครั้ง จะเสี่ยงไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 3. ชายและหญิงมีความเสี่ยงไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ 4. การทายผิดหรือทายถูกไม่มีผลต่อการเลือกทายครั้งต่อไป ทั้งของเด็กเกเรและเด็กปกติ แต่เด็กเมื่อทายผิดในแบบหนึ่งแล้ว มักจะเลือกทายในแบบหนึ่ง ส่วนเด็กเกเรเมื่อทายผิดแล้วจะยังคงทายซ้ำแบบเดิม หรือเรียกว่ามีลักษณะ fixation.

Keywords: พฤติกรรมรุนแรง, วัยรุ่น, เด็กเกเร, เยาวชน เยาวชน, กลุ่ม เสี่ยง, ผิดกฎหมาย, จิตวิทยา, ก้าวร้าว, สถานพินิจ

ปีที่เผยแพร่/Year: 2518

Address: นักจิตวิทยา กองแพทย์ ศาลคดีเด็กและเยาวชนกลาง กระทรวงยุติธรรม

Code: 0000000012

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: รายงานวิจัย: วารสารวิชาการ

Download: -