ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ปรเมษฐ์ กิ่งโก้

ชื่อเรื่อง/Title: การพัฒนารูปแบบการดูแลผู้ป่วยโรคจิตแบบครบวงจร จังหวัดสกลนคร

แหล่งที่มา/Source: วารสารสุขภาพจิตแห่งประเทศไทย ปีที่ 11 ฉบับที่ 1, มกราคม 2546, หน้า 13-19.

รายละเอียด / Details:

การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารูปแบบการดูแลผู้ป่วยโรคจิตอย่างครบวงจรประเมินผู้เข้ารับการอบรมด้านความรู้ ความเข้าใจในเรื่องโรคจิต การรักษา การดูแลผู้ป่วยขณะอยู่บ้านหรือชุมชน และการส่งต่อผู้ป่วย ของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข อสม. และญาติผู้ป่วยโรคจิต และเพื่อลดอัตราการล่ามขังของผู้ป่วยโรคจิต โครงการนี้เริ่มดำเนินงานในปี 2543 โดยการสำรวจผู้ป่วยโรคจิตทั้งจังหวัด และคัดเลือก 1 อำเภอ ที่มีความพร้อมของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและมีจำนวนผู้ป่วยที่ถูกล่ามขังมากที่สุด จัดระบบการดูแลผู้ป่วยโรคจิตแบบครบวงจรเป็นอำเภอนำร่อง คือ อำเภอวาริชภูมิ จัดอบรมเจ้าหน้าที่สาธารณศุข พยาบาลวิชาชีพ พยาบาลเทคนิคที่รับผิดชอบงานสุขภาพจิตในสถานีอนามัย และที่ต้องดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาลชุมชน จำนวน 22 คน, อสม.. หมู่บ้านละ 1 คน จำนวน 65 คน และญาติผู้ป่วยโรคจิตครอบครัวละ 1 คน จำนวน 62 คน เพื่อให้มีความรู้ในการดูแลผู้ป่วย พร้อมทั้งติดตามเยี่ยมผู้ป่วย ร่วมกันระหว่างเครือข่ายผู้ปฏิบัติงานสุขภาพจิตระดับเขต, จังหวัด, อำเภอ, ตำบล และอสม. โดยวิธีสนทนากลุ่มกับ อสม. และ ญาติผู้ป่วย หลังจากการอบรมมีการเยี่ยมผู้ป่วยล่ามขังในชุมชนรายบุคคล และประเมินผลการดำเนินงานผู้ผ่านการอบรมหลังจากอบรม 3,6 เดือน วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติ ความถี่ ร้อยละ พบว่าเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และอสม. มีความรู้หลังได้รับการอบรมเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ผู้ป่วยที่ถูกล่ามขังอำเภอวาริชภูมิ 10 คน สามารถปลดปล่อยจากการล่ามขังได้ 6 คน มีรูปแบบระบบดูแลรักษาและระบบส่งต่อผู้ป่วยจิตเวชที่ชัดเจน และได้นวตกรรมใหม่คือ สมุดบันทึกอาการผู้ป่วยโรคจิตสำหรับญาติเพื่อสะดวกในการติดต่อสื่อสาร ระหว่างญาติและแพทย์ผู้รักษาเมื่อมารับยาต่อเนื่อง มีการส่งต่อผู้ที่ได้รับการคัดกรองสงสัยเป็นโรคจิตจาก อสม. ไปที่โรงพยาบาลวาริชภูมิเพื่อการตรวจวินิจฉัย 6 ราย ส่งต่อจากครอบครัวมารับการรักษาด้วยยาฉีด จำนวน 4 ราย และโรงพยาบาลวาริชภูมิส่งต่อไปโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่น จำนวน 6 รายและในปี 2544 ได้ขยายผลอีก 2 อำเภอ วิธีการดำเนินงานเช่นเดียวกับปี 2543 ติดตามเยี่ยมผู้ป่วยในทุกอำเภอ สามารถลดอัตราการล่ามขังได้ 27 คน จากผู้ป่วยโรคจิตที่ถูกล่ามขังทั้งจังหวัด 62 คน คิดเป็นร้อยละ 43.55 จากผลการดำเนินงานข้างต้น ได้ชี้ชัดให้เห็นว่ารูปแบบการดูแลผู้ป่วยโรคจิตอย่างครบวงจร สามารถลดอัตราการล่ามขังผู้ป่วยได้

Keywords: ผู้ป่วยโรคจิต, การดูแล, การดูแลผู้ป่วยโรคจิตอย่างครบวงจร, จิตเวชชุมชน

ปีที่เผยแพร่/Year: 2546

Address: สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสกลนคร

Code: 0000652

ISSN/ISBN: 2859-497

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Abstract Journal.

Download: Download รายงานวิจัย คลิกได้ที่นี่ค่ะ PDF Format 1.47MB