ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: อัญชลี ศิลาเกษ

ชื่อเรื่อง/Title: การวิจัยประเมินผลการดำเนินโครงการพัฒนารูปแบบการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อป้องกันสารเสพติด ในจังหวัดอำนาจเจริญ

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 7 ปี 2544 "ความสุขที่พอเพียง" วันที่ 5-7 กันยายน 2544. หน้า 77-78

รายละเอียด / Details:

ปัจจุบันปัญหายาเสพติด ได้มีการแพร่กระจายในทุกพื้นที่ของประเทศไทย และได้ทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ ปัญหาดังกล่าวมีผลต่อการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพราะการแพร่ระบาดในปัจจุบันพบมากในเด็กและเยาวชน ที่จะเป็นอนาคตของชาติ นอกจากนี้ยังมีผลต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม การเมือง และความมั่นคงของประเทศ การป้องกันและการแก้ไขปัญหาควรมีหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและองค์กรเอกชนดำเนินการร่วมกันด้วยกลวิธีต่างๆ กรมสุขภาพจิตได้พัฒนาวิธีการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการป้องกันปัญหาสารเสพย์ติดในชุมชนด้วย กระบวนการร่วมใจ ร่วมคิด ร่วมทำ ซึ่งมีผลทำให้ ชุมชนเกิดความเข้มแข็งโดยดำเนินการในเขตการสาธารณสุขทั้ง 12 เขตละ 1 จังหวัด สำหรับเขต 7 ดำเนินการในเขตอำนาจเจริญ ด้วยการสนับสนุนของโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ และศูนย์สุขภาพจิตเขต 7 ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอำนาจเจริญ ซึ่งเห็นสมควรให้มีการประเมินผลในรูปแบบของการวิจัยประเมินผล วัตถุประสงค์ของการวิจัยคือ เพื่อประเมินผลการดำเนิน โครงการและเพื่อประเมินผลการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการป้องกันปัญหาสารเพย์ติดในชุมชน ประชากรที่ศึกษา ได้แก่ 1) บุคลากรสาธารณสุขที่ผ่านการอบรมเทคนิค การจัดกิจกรรม มีส่วนร่วมของชุมชนในการป้องกันปัญหาสารเสพย์ติดในเขต 4 อำเภอ จำนวน 21 ราย และ 2) ผู้นำชุมชนในเขต 4 อำเภอ จำนวน 50 ราย ที่เข้าประชุมเชิงปฏิบัติการการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อป้องกันปัญหาสารเสพย์ติด เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบประเมินการอบรมเทคนิคการจัดกิจกรรมฯ แบบประเมินคู่มือการจัดกิจกรรมฯ แบบประเมินความพึงพอใจของผู้นำชุมชนที่เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติกาและแบบสัมภาษณ์ เก็บข้อมุล โดยคณะผู้วิจัย และวิเคราะห์ข้อมูล โดยใช้ค่าสถิติคือร้อยละ และค่าเฉลี่ย ผลการศึกษา บุคลากรสาธารณสุขทั้ง 4 อำเภอ มีความเห็นว่าการอบรมเทคนิคการจัดกิจกรรมการมีส่วนร่วมของชุมชน ในการป้องกันปัญหาสารเสพย์ติดมีประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานในระดับ มากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 50 และในระดับมาก คิดเป็นร้อยละ 50 บุคลากรสาธารณสุขคิดว่าจะนำความรู้จากการอบรมไปปรับใช้ในการปฏิบัติงานในระดับมาก คิดเป้นร้อยละ 75 และคิดว่าได้รับประโยชน์มาก จากการฝึกปฏิบัติขณะอบรมคิดเป็นร้อยละ 75 ส่วนการประเมินคู่มือการจัดกิจกรรมมีส่วนร่วมของชุมชนในการป้องกันสารเสพย์ติดจากบุคลากรสาธารณสุขที่ได้นำไปใช้ในการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการแก่ผู้นำชุมชน ได้ผลการประเมินคือ เนื้อหาของคู่มือฯ มีความเหมาะสมในระดับมากร้อยละ 76.2 และมากที่สุด ร้อยละ 19.9 กิจกรรมที่ระบุในคู่มือฯ สามารถใช้ในการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการป้องกันสารเสพย์ติด ได้ในระดับมากร้อยละ 76.2 และในระดับมากที่สุด ร้อยละ 23.8 ผลการประเมินความพึงพอใจ จากผู้นำชุมชนที่ได้มีส่วนร่วมในการเข้าประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อมีส่วนร่วมในการป้องกันสารเสพย์ติดในชุมชน พบว่าผู้นำชุมชนร้อยละ 64.15 มีความพึงพอใจ ในระดับมากที่ได้ร่วมคิดวิธีป้องกันและแก้ปัญหาสารเสพย์ติดในชุมชน และหลังจากประชุมเชิงปฏิบัติการแล้วพบว่า ร้อยละ 62 มีการทำกิจกรรมเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาสารเสพย์ติดอย่างต่อเนื่อง และร้อยละ 70 มีความเห็นว่ากิจกรรมที่ดำเนินการมีส่วนช่วยในการป้องกันหรือแก้ไขปัญหาสารเสพย์ติดในชุมชนในระดับมาก ผู้นำชุมชนมีความพึงพอใจในระดับมาก คิดเป็นร้อยละ 66 ที่ได้มีส่วนร่วมในการดำเนินการแก้ไข ปัญหาสารเสพย์ติดในชุมชน และผู้นำ ชุมชนร้อยละ 96 เห็นว่าปัญหาสารเสพย์ติดในชุมชนของตนได้มีการเปลี่ยนแปลงและแก้ไข โครงการประชาคมหมู่บ้านปลอดสารเสพย์ติด โครงการเผยแพร่-ประชาสัมพันธ์ ความรู้เรื่อง สารเสพย์ติด โครงการครอบครัว อบอุ่นป้องกันสารเสพย์ติด และโครงการตักเตือนและให้กำลังใจแก่กลุ่มเสี่ยงและกลุ่มผู้ใช้สารเสพย์ติด

Keywords: สารเสพติด, ยาเสพติด, ชุมชน, จังหวัดอำนาจเจริญ, substance abuse, drug abuse

ปีที่เผยแพร่/Year: 2544

Address: กรมสุขภาพจิต,กระทรวงสาธารณสุข

Code: 00007

ISSN/ISBN: 974-296-076-3

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -