ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: จันทนา สุขวัจน์

ชื่อเรื่อง/Title: สุขภาพจิตกับสังคมปัจจุบันและอาชญากรรมในวัยรุ่น

แหล่งที่มา/Source: วารสารจิตวิทยาคลินิก. ปีที่ 8, ฉบับที่ 1, เมษายน 2520, หน้า 1-11.

รายละเอียด / Details:

คนทั่วไปเข้าใจคำว่าสุขภาพจิตดีหมายถึงว่าร่างกายแข็งแรง ปราศจากโรคภัยแต่ก็มีคนมิใช่น้อยที่ร่างกายแข็งแรง ตรวจแล้วไม่พบโรค แต่ก็ไม่สบาย ไม่มีแรง ไม่มีกำลังใจที่จะสู้กับอุปสรรคในการงานและในการดำเนินชีวิต หรือไม่ก็มองดูสิ่งต่างๆ ที่แวดล้อมตัวอยู่ ไม่ว่าผู้คนหรือการกระทำไปในแง่ร้าย คาดการณ์ต่างๆ ไปในทางร้ายแล้วก็บอกตนเอง บอกใคร ๆ ว่า สิ่งทั้งหลายที่เปลี่ยนแปลงอยู่รอบๆ ตัวนี่แหละเป็นต้นเหตุแห่งการหมดความสุข ไม่ทำให้มีกำลังใจที่จะทำสิ่งใด จริงอยู่ สิ่งแวดล้อมทั้งหลายมีส่วนรบกวนจิตใจคนให้เกิดความคิดไปต่างๆ แต่ต่างคนก็มองดูการเปลี่ยนแปลงทั้งหลายไปตามพื้นฐานทางจิตใจเดิม การศึกษา ประสบการณ์และอารมณ์แต่ละขณะ ฯลฯ แต่มักจะลืมพิจารณาตัว โดยเฉพาะหาใจตัวเองให้พบ ให้พบว่าอะไรเป็นต้นเหตุให้คิดเช่นนั้น บางคนก็คิดพิจารณา มองเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงทั้งหลายเป็นเรื่องของชีวิต ที่เป็นธรรมดาย่อมตั้งอยู่ในความเปลี่ยนแปลงนั้น ก็กระทบกระเทือนการดำรงชีวิตของเขา แต่เขาก็ใช้สติและปัญญา ประสบการณ์ พินิจพิจารณาเหตุผล และผลของเปลี่ยนแปลงนั้น ทั้งทางดีและทางเสียอย่างรอบคอบ ก่อนจะตัดสินใจสรุปสิ่งใด และลงมือทำการใด ๆ ส่วนมากบุคคลเช่นนั้นมักเป็นผู้ที่มีพื้นฐานทางจิตใจมั่นคงมาแต่ปฐมวัย บางคนก็เอาตัวเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์นั้นโดยไม่รู้ตัว เกิดอารมณ์ไปตามแล้วก็ปล่อยให้อารมณ์ชักจูงไปให้คิด ให้หวาดหวั่น จนขาดสติปัญญา สรุปสิ่งใดไปในทางหนึ่งทางใด และเป็นวิสัยปกติของมนุษย์ที่จะอยู่กับความคิดนั้นๆ ของตนตามลำพังหาได้ไม่ จะต้องหาเพื่อนช่วยคิดร่วมทุกข์กับตน และถ้าได้เพื่อนหรือผู้ใหญ่ดี ก็จะให้ทั้งสติและปัญญา แต่โดยมากมักจะพากันไป "ร่วมทุกข์" ไม่ใช่ "แก้ทุกข์" อีกพวกหนึ่งไม่รับรู้เหตุการณ์ใดๆ รอบตัวเองทั้งสิ้นเหมือนลักษณะพวกที่รัก กลัว เกลียดสิ่งใดไม่อยากรับรู้สิ่งที่รัก เปลี่ยนแปลง ไม่อยากเห็นภาพที่น่ากลัว น่าเกลียดเพราะมีจิตใจไม่เข้มแข็งพอ เหมือนคนที่ไม่กล้ามองดูกระจก เพราะหน้าตาเกิดเปลี่ยนแปลงอัปลักษณ์ไป มนุษย์มีธรรมชาติทางด้านจิตใจที่ช่วยตัวของมันเองอยู่ โดยเราไม่รู้ตัวอยู่เสมอ เช่น อะไรที่จะก่อให้เกิดความเจ็บปวดหรือความทุกข์ ความยุ่งยากนั้น ถ้าเราหนีได้ก็หนี แต่หากมีหน้าที่บังคับต้องรับผิดชอบละ จะทำอย่างไรจะเผชิญกับมันอย่างใจกล้าก็กลัว ครั้นจะหนี มโนธรรมอันเกิดจากการอบรมให้ผิดชอบก็เตือนไว้ เลยยืนจังงัง ใจสั่น หรือหัวใจเต้นจนจะหมดแรง โดยเคลื่อนไหวเข้าไปหาก็ไม่ได้ ได้แต่อยู่กับความวิตก ทุกข์ร้อนโดยไม่ลงมือแก้ไขอย่างไร คนสองพวกหลังนี้ร่างกายทั่วไปไม่มีโรคภัย แต่จิตหรือใจไม่มีความเข้มแข็ง ถ้าโชคไม่เข้าช่วยปล่อยให้ต้องตกอยู่ในภาวะอารมณ์ทำให้สติอ่อน ปัญญาตก อาจใช้อารมณ์ตัดสินกระทำการไปในทางที่ตัดหรือเปลี่ยนอารมณ์ที่ก่อความทุกข์นั้นผิดไปจนก่อทุกข์โทษแก่ตนเอง และผู้อื่นได้ต่าง ๆ นานา แล้วแต่สิ่งที่มารุกเร้า เพียงแต่ขอดับทุกข์เฉพาะหน้า การที่จะกล่าวว่า ใครมีสุขภาพจิตดี จึงมิได้หมายความว่าไม่มีอาการทางโรคจิตแต่น่าจะได้หมายถึงความสมบูรณ์ถูกต้องในการรับรู้ มีเหตุผลดี มีความรู้สึกที่ไม่สับสนวุ่นวาย และสามารถปรับตัวเองให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม สังคม ใช้ชีวิตที่ไม่สับสนวุ่นวาย และสามารถปรับตนเองให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม สังคม ใช้ชีวิตเข้ากับผู้อื่นได้โดยไม่ก่อความทุกข์แก่ตนเองและผู้อื่น และยังประโยชน์สุขแก่สังคมได้ด้วย ผู้ที่มีสุขภาพจิตดี หรือต้องการให้ตนและผู้อื่นมีสุขภาพจิตดีนั้น ไม่จำเป็นต้องหาสิ่งที่หรูหราให้ การมีความสุขในครอบครัวอย่างง่ายๆ การสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดในเด็กก็เริ่มจาก พ่อ แม่ ลูก จะให้ลูกเชื่อว่าความยุติธรรมนี้มีอยู่และเป็นของดี พ่อและแม่ก็ควรมีความรักลูกโดยเท่าเทียมสม่ำเสมอ ทำให้เด็กไม่รู้จักอิจฉาริษยามาแต่เริ่มชีวิต หรือถ้าจะให้เด็กเชื่อว่าการกระทำความดีย่อมได้ผลแห่งความดี พ่อ แม่ ก็ต้องส่งเสริมให้เด็กแน่ใจด้วยการกระทำอย่าตัดสินสิ่งใดฉาบฉวยด้วยอารมณ์ ไม่รู้ถึงข้อเท็จจริง ไม่เอาอารมณ์ ความน้อยเนื้อต่ำใจของตนในเรื่องผู้บังคับบัญชามาพูดให้ลูกฟัง ซึ่งจะทำให้เด็กเริ่มไม่มั่นใจ นั่นก็เป็นวิธีการธรรมดาที่จะจัดสภาพสังคมตัวอย่างขึ้นในบ้าน ให้เป็นสังคมที่ประทับใจ ให้ความมั่นคงทางอารมณ์แก่เด็ก แต่ก็ไม่ลืมที่จะชี้ให้เด็กเห็นตัวอย่างที่ไม่ดี และผลที่ไม่ดี ตลอดจนชี้วิธีแก้ไขที่ดีให้ผลเพื่อเตรียมให้เด็กรู้จักสังคมนอกบ้านที่จะผิดแผกจากสังคมวงแคบ พร้อมด้วยเหตุผลที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมซึ่งประกอบด้วยคนที่มาจากครอบครัวต่างๆ การอบรมต่างๆ กันไป และควรให้เด็กรู้ว่าทุกคนมีส่วนในการจะป้องกันแก้ไขในสิ่งที่ตนไม่ต้องการ ในการประชุมสุขภาพจิตโลกที่ฮ่องกงเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2514 นั้นชี้ให้เห็นว่า ปัญหาที่กำลังเป็นที่หนักใจเรื่องอาชญากรรมกับเด็กวัยรุ่นนี้มิใช่มีแต่ในประเทศไทย ปัญหาเด็กวัยรุ่นที่ประพฤติผิดกฎหมายมีอยู่ทั่วไปจนได้มีกฎหมายว่าด้วยการทำผิดของผู้เยาว์ ระบุอายุของผู้เยาว์ไว้ว่า อายุต่ำกว่า 16 ปี (ซึ่งมีการกำหนดอายุแตกต่างกัน เช่น บางแห่งก็กำหนดอายุไว้ 18 ปี) แต่ที่ยังไม่เป็นผู้ใหญ่ทางอารมณ์เล่า? ในฮ่องกงปี 1969 มีพลเมืองในตอนกลางปี 3,987,500 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็กอายุ 8-10 ปี จำนวน 810,000 คน และระหว่าง 16-21 ปี จำนวน422,700 คน ในบรรดาเด็กอายุ 8-16 ประมาณ 1% หรือต่ำกว่าก็เล็กน้อยถูกยื่นฟ้องในศาลคดีเด็ก และมี 0.29% ในกลุ่ม 16-21 ปี ถูกศาลสั่งให้จำคุก (ประมาณ 1,226 คน จาก 422,700 คน) 8-16 ปี ถูกยื่นฟ้องเป็นจำนวนประมาณ 8,100 คน ฉะนั้น คำจำกัดความสำหรับปัจจุบันจึงไม่ใช่ง่าย เพราะจะเรียกเด็กผู้เยาว์ว่าเป็นเด็กเกเร ถึงระดับที่กฎหมายต้องจัดการนั้น ยึดถือเอาการปรับตัวเข้าสังคมไม่ได้ ก็ต้องแล้วแต่สังคม วัฒนธรรมของบ้านเมืองนั้น การสื่อสาร เช่น วิทยุ โทรทัศน์ สถานะเศรษฐกิจ กลุ่มชนส่วนน้อย ความยากจน และอื่นๆ แต่ทั้งสังคมและวัฒนธรรมได้รับอิทธิพลจากการศึกษา จะพูดตามหลักการของนักจิตวิทยา จิตแพทย์ ก็ยากที่จะเข้าใจ ถ้าจะร่างกฎหมายเพราะมีความหมายกว้าง คือใช้คำว่า ปรับตัวเข้ากับสังคมไม่ได้ (social maladjustment) จะเอาสังคมไหน? อะไรเป็นสังคมมาตรฐาน? ถ้าตามความจำกัดความของกฎหมาย ก็ยังแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ในยุโรปเรื่องคนกลุ่มน้อย ซึ่งฝ่าฝืน แหวกกฎหมาย เป็นเรื่องไม่ถูกใจขัดแย้งกับคนกลุ่มใหญ่ ในอเมริกาปฏิกิริยาของกลุ่มน้อยที่ถูกฟ้องศาลนั้น รวมความประพฤติต่าง ๆ ไว้มากมาย ได้แก่ การหนีโรงเรียน ดื้อดึงขัดขืนบิดามารดาเป็นนิสัย สูบบุหรี่ในที่สาธารณะและอื่นๆ ที่สุดสรุปว่าเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่ประพฤติผิดกฎหมายเรียกว่า ยุวอาชญากร สถานการณ์ในฮ่องกง ในขณะนี้ฮ่องกงมีวัยรุ่น หรืออายุต่ำกว่า 21 ปี ถึง 50% ของพลเมืองทั้งหมด ยิ่งมีความสามารถในการตรวจค้นมากขึ้น สถิติก็ยิ่งสูงขึ้น ในระหว่างปี 1968-1969 มีเด็กอายุ 14-21 ปี ถูกจำคุก จำนวน 721 คน และ 729 คนถูกกันไว้ในศูนย์ฝึกและ 2,940 คน ถูกสั่งให้เข้าอยู่ในสถาบันแก้ไขความประพฤติ พวกเหล่านี้มีความประพฤติเกเรไม่อย่างหนึ่งก็อย่างใดซึ่งได้แก่ การทำฆาตกรรม ยกพวกตีกัน ค้ายาเสพติด โสเภณี เล่นการพนันเถื่อน เด็กเหล่านี้จะมั่วสุ่มกันอยู่ตามที่เหล่านี้ คือ สถานที่เต้นรำสกปรก สถานที่เล่นไพ่นกกระจอก ที่หอพักราคาถูก ที่จอดรถตอนกลางคืน ข้างถนน ตรอกแคบๆ ฯลฯ เหล่านี้เป็นต้น สาเหตุของความประพฤติเกเรเหลวไหลในเด็กวัยรุ่นที่ศึกษาในฮ่องกง ซึ่งคล้ายกันกับของไทยเราได้แก่ 1. บทบาทสำคัญในการสร้างแบบฉบับของความประพฤติและอารมณ์ของเด็กเริ่มจากในครอบครัว การขาดสัมพันธภาพระหว่างบุคคลในครอบครัวทำให้เกิดการปรับตัวอย่างผิดๆ เด็กไม่มีความพอใจ เหนื่อยหน่าย ท้อแท้ แต่ก็ต้องการให้ความปรารถนาได้รับผลสมใจ ทำให้หาทางออกในรูปต่างๆ ครอบครัวจีนนั้นมีความผูกพันระหว่างบุคคลในครอบครัวอย่างแน่นหนา เดิมมีปู่ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา อยู่ด้วยกัน แต่ในปัจจุบันลักษณะของเศรษฐกิจสังคมเปลี่ยนไป เกิดความไม่เข้าใจระหว่างคนแก่กับเด็ก เด็กจีนได้รับการอบรมแบบใหม่มาทางตะวันตก ความประพฤติ ท่าทีต่อผู้สูงอายุในบ้านผิดแปลกไป ขัดกับวัฒนธรรมเดิม ผู้ใหญ่ยังไม่เข้าใจความประพฤติของเด็กที่เปลี่ยนแปลงไป 2. ผู้เฒ่าผู้แก่ที่เคยมีความรู้สึกผูกพันกับลูกหลาน ผู้คนที่อยู่ร่วมกัน เกิดมีความรู้สึกว่า เด็กสมัยใหม่ไม่มีความเห็นใจ หรือเอาใจใส่ต่อคนที่อยู่ร่วมกันในครอบครัวเช่นที่เคยยึดถือปฏิบัติมา 3. ชีวิตในวัยเด็กเคยถูกบังคับให้อยู่ในกรอบประเพณีเดิม เมื่อได้มาพบกับชีวิตอีกแบบหนึ่งของตะวันตกซึ่งต่างมีอิสระในความนึกคิดและการกระทำ เด็กก็เกิดความตื่นเต้นต่อการเปลี่ยนแปลง พอใจในชีวิตอิสระนั้น 4. หนังสือต่างๆ ที่ได้อ่านปลุกให้เด็กเกิดความอยากรู้อยากเห็น และเอาแบบอย่างทำให้เกิดความสับสน ไม่อาจตัดสินได้ว่าอะไรถูก อะไรผิด จนกว่าจะมีประสบการณ์จากผลที่ได้ "ลองดู" 5. ที่สำคัญคือชีวิตในปฐมวัยของเด็ก แต่ต้องออกไปทำงานเพื่อช่วยค่าครองชีพ แต่ก็ต้องทอดทิ้งลูก การฟูมฟักเอาใจใส่ด้วยความรักใกล้ชิดก็ย่อมลดน้อย หรือขาดไปและการอยู่รวมกันแบบครอบครัวใหญ่ที่มี พี่ ป้า น้า อา ช่วยดูแลเด็กๆ ก็เป็นไปไม่ได้อย่างแต่ก่อน เพราะค่าครองชีพสูง ที่อยู่อาศัยจำกัดคน ฉะนั้นจึงมีได้เพียง พ่อ แม่ ลูก เมื่อพ่อแม่ออกจากบ้านก็ต้องทิ้งลูกไว้ตามลำพัง จึงพบว่าเด็กเที่ยวเตร่อยู่ตามถนนโดยตามลำพังมิใช่น้อย 6. ในระยะที่เด็กถึงเวลาเข้าโรงเรียน พวกเด็กที่มาจากครอบครัวซึ่งมีรายได้น้อย ฐานะทางสังคมต่ำก็อาจไม่มีโอกาสเข้าเรียน อาจเพราะพ่อแม่ต้องการส่งลูกไปหางานเล็กๆ น้อยๆ ช่วยให้มีรายได้เพิ่มขึ้น หรือช่วยดูแลน้องเล็กๆ อยู่ทางบ้าน และไม่มีกฎหมายบังคับให้ส่งเด็กเข้าโรงเรียน 7. แม้ว่าเด็กเข้าโรงเรียน การสอน ครูก็อาจจะไม่เข้าใจเด็กซึ่งมาจากฐานะทางวัฒนธรรมและสังคมที่แตกต่างกัน เด็กและครูต่างก็เหนื่อยหน่ายซึ่งกันและกัน เด็กอาจจะรับเอาสิ่งที่ครูสอนไปอย่างเคลือบแคลง เพราะขาดความสัมพันธ์กับครู เนื่องจากมีนักเรียนมากด้วยกัน อาจดูถูกบิดามารดา ขาดความรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ไม่เชื่อถือบิดามารดาเช่นที่เคย แล้วเริ่มตีตัวออกห่างจากบิดามารดา ความคิดอ่านที่รับมาจากบิดามารดากับได้รับจากครูแตกต่างกัน ทำให้เด็กเกิดความขัดข้องใจ ไม่มีความเชื่อมั่นพอที่จะสร้างบุคลิกภาพให้เป็นแบบหนึ่งแบบใดโดยแน่นอน เพราะไม่รู้ว่าสิ่งใดถูกสิ่งใดผิด หรือควรรับเพียงใด 8. เข้าในระยะวัยรุ่น ได้พบชีวิตนอกบ้านมากขึ้น อารมณ์ในวัยนี้หวั่นไหวได้ง่าย อารมณ์แสดงออกรุนแรง ความเหนื่อยหน่ายท้อแท้ยิ่งมากขึ้น พร้อมๆ กับที่มีวัฒนธรรมตะวันตกแทรกเข้ามาในความคิดนึกแต่ขนบธรรมเนียมเก่าทางบ้านเด็กก็ยังต้องรับ เด็กขาดความสามารถที่จะประณีประนอม ระหว่างความคิดเห็นจากครูกับความคิดเห็นของบิดามารดาญาติผู้ใหญ่ ความคิดวุ่นวายนี้เกิดกับเด็กที่มาจากครอบครัวทุกระดับ ไม่ว่าครอบครัวที่มีฐานะดีหรือยากจน

Keywords: วัยรุ่น, อาชญากรรม, ปัญหาสังคม, ปัญหาสุขภาพจิต, ก้าวร้าว, อาชญากรรมวัยรุ่น, พฤติกรรมรุนแรง, ผิดกฎหมาย, ปัญหาเด็กวัยรุ่น,

ปีที่เผยแพร่/Year: 2520

Address: ผู้อำนวยการกองสุขภาพจิต กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

Code: 0000000014

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทความสุขภาพจิต: วารสารวิชาการ

Download: -