ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: สีคิ้ว ดิษริยะกุล.

ชื่อเรื่อง/Title: อุดมการณ์ แนวทางการดำเนินชีวิต และการปรับตัวของพยาบาลจิตเวช.

แหล่งที่มา/Source: วิทยานิพนธ์ พัฒนบริหารศาสตรมหาบัณฑิต, 2539, 76 หน้า.

รายละเอียด / Details:

การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาเจาะลึก โดยมีวัถุประสงค์เพื่อศึกษาทัศนะอุดมการณ์ต่องานวิชาชีพ แนวทางการดำเนินชีวิต ความพร้อมในการปฏิบัติงานและการปรับตัวของพยาบาลจิตเวช เก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์เจาะลึก ประชากรที่ศึกษาเป็นพยาบาลวิชาชีพโรงพยาบาลศรีธัญญา โดยมีผู้ให้ข้อมูลที่สำคัญจำนวน 17 ราย เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาเป็นประเด็นการสัมภาษณ์ที่ศึกษาสร้างขึ้น ผลการศึกษาพบว่า พยาบาลวิชาชีพโรงพยาบาลศรีธัญญา มีทัศนะที่ดีต่องานการพยาบาล โดยเห็นว่าเป็นงานที่ได้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ เป็นวิชาชีพที่สามารถนำความรู้มาใช้กับตัวพยาบาลเองและครอบครัว ทำให้เข้าใจผู้อื่นได้ดี รวมทั้งสามารถนำมาใช้ในการปรับตัว และแก้ปัญหาได้ ส่วนอุดมการณ์ของพยาบาลจิตเวชโรงพยาบาลศรีธัญญา ส่วนใหญ่ยึดอุดมการณ์ทำงานเพื่อผู้ป่วย ต้องการให้ผู้ป่วยหายจากอาการเจ็บป่วยโดยเร็วที่สุด และกลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข สำหรับแนวทางการดำเนินชีวิตของพยาบาลจิตเวช โรงพยาบาลศรีธัญญาที่จบใหม่ทำงานมาไม่เกิน 2 ปี พบว่า การดำเนินชีวิตมุ่งการทำงานเพื่อสร้างฐานะ หรือใช้จ่ายเพื่อครอบครัว โดยทั้งหมดทำงานนอกเวลากับโรงพยาบาลเอกชน ส่วนพยาบาลที่ทำงานอยู่ในช่วง 2-10 ปีและแต่งงานแล้ว จะมีแนวทางในการดำเนินชีวิตแตกต่างจากกลุ่มพยาบาลจบใหม่โดยไม่ได้ทำงานพิเศษนอกเหนือจากงานประจำ แต่ใช้เวลาที่เหลือกับครอบครัว ส่วนพยาบาลที่ทำงานมานานเกิน 10 ปี แนวทางการดำเนินชีวิตส่วนใหญ่จะมุ่งแต่งานในหน้าที่ อุทิศเวลาส่วนใหญ่ให้กับงาน มีเวลาส่วนน้อยที่ดูแลครอบครัว ส่วนเรื่องความพร้อมในด้าน ความรู้ ความสามารถ พยาบาลโรงพยาบาลศรีธัญญา ขาดความพร้อมในด้านความรู้เรื่องเภสัชวิทยา และพยาบาลทั้งหมดเห็นว่าควรจัดหลักสูตรการพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวชหลังพื้นฐานการพยาบาลให้กับพยาบาลทุกคน จึงจะทำให้พยาบาลวิชาชีพมีความพร้อมในด้านความรู้ ความสามารถที่จะให้การดูแลผู้ป่วยจิตเวชได้อย่างมีประสิทิภาพ ปัญหาอุปสรรคในการทำงานของพยาบาลโรงพยาบาลศรีธัญญา ที่จบใหม่ทั้งหมด มีปัญหาเข้ากับผู้ร่วมงานไม่ได้ นอกจากนั้นมีปัญหาเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล และปัญหาขาดแคลนบุคลากร ส่วนการปรับตัวของพยาบาลจิตเวช ผู้ที่จบใหม่ส่วนใหญ่มีปัญหาการปรับตัวเข้ากับผู้ร่วมงานและระบบงาน ส่วนพยาบาลทำงานนาน 2-10 ปี จะมีปัญหาการปรับตัวเข้ากับผู้บังคับบัญชา (หัวหน้าหน่วย) ส่วนพยาบาลที่ทำงานนานเกิน 10 ปี มักจะมีปัญหาการปรับตัวเข้ากับนโยบายที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ความต้องการ พยาบาลจบใหม่ส่วนใหญ่ต้องการหาเงินเพื่อสนับสนุนการเรียนของน้อง และต้องการเพิ่มพูนความรู้ให้กับตนเอง พยาบาลที่ทำงานในช่วงเวลา 2-10 ปี ต้องการให้ฐานะครอบครัวมั่นคง ส่วนพยาบาลที่ทำงานมานานเกิน 10 ปี ต้องการเห็นโรงพยาบาลมีระบบการทำงานที่ชัดเจน โดยเฉพาะในเรื่องการบริหารงานบุคคล ผู้บริหารให้ความสนใจในการดูแลผู้ป่วยให้มากกว่านี้และมีความสามัคคีในองค์กร

Keywords: การปรับตัว, พยาบาลจิตเวช, อุดมการณ์, การดำเนินชีวิต, พยาบาลวิชาชีพ, พยาบาล

ปีที่เผยแพร่/Year: 2539

Address: พัฒนบริหารศาสตรมหาบัณฑิต.

Code: 000144

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อ: วิทยานิพนธ์

Download: -