ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: หทัยรัฐณ์ เอื้อสามาลย์.

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาทัศนะของบุคลากรสาธารณสุขต่อการสร้างเครือข่ายทางสังคมด้านสาธารณสุขชุมชนของผู้ป่วยจิตเวชเขต 1.

แหล่งที่มา/Source: วิทยานิพนธ์ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2542, 128 หน้า.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

รายละเอียด / Details:

การศึกษาเรื่อง "ทัศนะของบุคลากรทางสาธารณสุขต่อการสร้างเครือข่ายทางสังคมด้านสาธารณสุขชุมชนของผู้ป่วยจิตเวช เขต 1" มีวัถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงองค์กรเครือข่ายทางสังคมด้านสาธารณสุขชุมชนของผู้ป่วยจิตเวช เขต 1 ตลอดจนความรู้ ความเข้าใจที่มีต่อการสร้างเครือข่ายทางสังคมด้านสาธารณสุขชุมชน รวมทั้งทัศนะของกลุ่มตัวอย่างในเขต 1 ต่อการสร้างเครือข่ายทางสังคมด้านสาธารณสุขชุมชน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษา คือ พยาบาลวิชาชีพ พยาบาลเทคนิคและนักสังคมสงเคราะห์ในเขต 1 จำนวน 200 ราย โดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการศึกษา ผลการศึกษา พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง มีอายุระหว่าง 31-40 ปี สถานภาพโสด สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ระดับตำแหน่งการปฏิบัติงานพยาบาลวิชาชีพส่วนใหญ่อยู่ในระดับ 6-7 ระยะเวลาในการปฏิบัติงาน 10 ปีขึ้นไป และกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ได้มีการติดต่อกับเครือข่ายทางสังคมด้านสาธารณสุขชุมชน คือ สถานีอนามัย โดยวิธีการส่งต่อผู้ป่วยเข้ารับการรักษา ในด้านความรู้ความเข้าใจในการสร้างเครือข่ายทางสังคมด้านสาธารณสุขชุมชนของผู้ป่วยจิตเวช 1 พบว่า กลุ่มตัวอย่างมีความรู้ในเรื่องเครือข่ายทางสังคมโรคทางจิตเวช แนวคิดการส่งเสริมสุขภาพ แนวคิดการใช้ชุมชนเป็นฐาน ซึ่งความรู้ของกลุ่มตัวอย่างในหมวดนี้มีความรู้อยู่ในเกณฑ์มาก แต่มีความรู้ในเรื่องการสนับสนุนทางสังคมอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง ด้านทัศนะของกลุ่มตัวอย่าง ในการสร้างเครือข่ายสังคมด้านสาธารณสุขของผู้ป่วยจิตเวชเขต 1 พบว่า ทัศนะกลุ่มตัวอย่างต่อผู้ป่วยจิตเวชมีความเห็นด้วยมากในเรื่องผู้ป่วยจิตเวชสามารถปรับตัวอยู่ร่วมกับคนปกติในชุมชน ส่วนทัศนะกลุ่มตัวอย่างต่อแนวคิดเครือข่ายทางสังคม มีความเห็นด้วยมากที่ว่าการสร้างเครือข่ายทางสังคมเป็นสิ่งสำคัญในการปฏิบัติงานเพื่อป้องกัน แก้ไขปัญหา ฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวช ส่วนทัศนะของกลุ่มตัวอย่างต่อแนวคิดและเครือข่ายทางสังคมบุคลากรมีความเห็นด้วยมากที่ว่า การมีเครือข่ายทางสังคมด้านสาธารณสุขจะช่วยให้กลุ่มตัวอย่างเกิดความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน สำหรับทัศนะกลุ่มตัวอย่างต่อแนวคิดเครือข่ายทางสังคมต่อองค์กร มีความเห็นด้วยมากว่า การมีเครือข่ายทางสังคมจะช่วยให้การประสานงานของบุคลากรง่ายขึ้น สำหรับปัญหาและอุปสรรคในการสร้างเครือข่ายทางสังคมด้านสาธารณสุขชุมชนของผู้ป่วยจิตเวชเขต 1 พบว่า ปัญหาและอุปสรรคทางด้านบุคลากร บุคลากรส่วนใหญ่ขาดความรู้ด้านเครือข่ายทางสังคมและขาดการประสานงานในการทำงาน ปัญหาและอุปสรรคทางด้านหน่วยงานพบว่า หน่วยงานไม่มีนโยบายที่ชัดเจนในการสร้างเครือข่าย ปัญหาและอุปสรรคทางด้านการบริหารจัดการในหน่วยงาน พบว่า เครือข่ายทางสังคมด้านจิตเวชมีไม่ถึง ข้อเสนอแนะ ในการสร้างเครือข่ายทางสังคมด้านสาธารณสุขชุมชนของผู้ป่วยจิตเวชเขต 1 ด้านบุคลากร คือ กลุ่มตัวอย่างควรจัดอบรมให้ความรู้ทางด้านเครือข่ายทางจิตเวช ควรมีการศึกษาดูงานในแต่ละองค์กรที่เกี่ยวข้อง ควรมีการศึกษาหรือวิจัยกับเครือข่ายทางด้านสังคม ด้านหน่วยงาน คือ ควรเป็นการทำงานร่วมกันทั้งในชุมชนและหน่วยงาน ควรมีกรอบนโยบายที่ชัดเจนในการสร้างเครือข่าย ควรมีการพัฒนาบริหารจัดการในหน่วยงานให้ดีขึ้น ด้านการบริหารคือ ควรมีการให้บริการทางด้านเครือข่ายทางสังคมอย่างทั่วถึง ควรมีการประชาสัมพันธ์ในเรื่องเครือข่ายทางสังคม ควรมีสายการบังคับบัญชาด้านเครือข่ายทางสังคมโดยตรง ควรมีการประชุมชี้แจงในการปฏิบัติงานให้ชัดเจน

Keywords: เครือข่ายทางสังคม, ชุมชน, ผู้ป่วยจิตเวช, จิตเวชชุมชน, บุคลากรสาธารณสุข

ปีที่เผยแพร่/Year: 2542

Address: คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์

Code: 000152

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อ: วิทยานิพนธ์

Download: -