ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ก.สินศักดิ์ สุวรรณโชติ

ชื่อเรื่อง/Title: ปัจจัยทางจิต-สังคมของผู้ป่วยรายใหม่ที่มารับการรักษาในโรงพยาบาลธัญญารักษ์ ด้วยภาวะผิดปกติจากการใช้ยาบ้าและเฮโรอีน

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 8 ประจำปี 2545 สุขภาพจิตกับยาเสพติด หน้า 41

รายละเอียด / Details:

การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาสภาพจิตใจ และสภาพสังคมของผู้ป่วยรายใหม่ที่มารับการรักษา ณ โรงพยาบาลธัญญารักษ์ ด้วยภาวะผิดปกติจากการใช้ยาบ้าและเฮโรอีน โดยศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 350 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล คือ แบบสัมภาษณ์สภาพทางสังคม และแบบสัมภาษณ์การวินิจฉัยโรคทางจิตเวช รวมทั้งการสัมภาษณ์เชิงลึกแบบกึ่งมีโครงสร้างในผู้ป่วย 10 ราบย ค่าสถิติที่ใช้ประกอบด้วย ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ยเลขคณิต ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าฐานนิยม ค่าสูงสุด ค่าต่ำสุด และเปรียบเทียบความแตกต่างโดย Chi-square test, Fisher's exact test และ Unpaired t-test ซึ่งการวิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมดใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป SPSS PC+ ผลการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยเสพยาบ้าจำนวน 302 คน และผู้ป่วยเสพเฮโรอีนจำนวน 48 คน ผู้ป่วยเริ่มเสพยาเสพติด เมื่ออายุเฉลี่ย 16.58+3.31 ปี (อายุต่ำ = 29 ปี ) ผู้ป่วยเสพยาเสพติดก่อนมารักษาเป็นระยะเวลาโดยเฉลี่ย 26.61+17.72 เดือน ผู้ป่วยส่วนใหญ่ร้อยละ 62.6 ได้รับการชักจูงให้เสพยาเสพติดจากเพื่อน ผู้ป่วยร้อยละ 94.7 เคยมีเพื่อนเสพยาเสพติด ผู้ป่วยร้อยละ 91.7 เคยได้รับความรู้เกี่ยวกับโทษของยาเสพติด ผู้ป่วยส่วนใหญ่ร้อยละ 95.2 สามารถหาซื้อยาเสพติดได้ง่ายภายในเวลา 10 นาที-1 ชั่วโมง ผู้ป่วยเสพยาบ้ามีช่วงอายุที่ใช้ยาเสพติดครั้งแรกต่ำกว่าผู้ป่วยเสพเฮโรอีนอย่างมีนัยสำคัญ (p-value‹0.05) ผู้ป่วยเสพยาบ้าใช้ยาเสพติดมาเป็นระยะเวลานานน้อยกว่าผู้ป่วยเสพเฮโรอีอย่างมีนัยสำคัญ (p-value<0.05) และผู้เสพยาบ้าใช้เงินในการซื้อหายาเสพติดน้อยกว่าผู้ป่วยเสพเฮโรอีนอย่างมีนัยสำคัญ(p-value<0.05)ส่วนใหญ่สภาพปัญหาจิตใจของผู้ป่วยกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 51.4 คือ ภาวะผิดปกติทางอารมณ์(Mddd disorder) โดยพบว่าผู้ป่วยร้อยละ 42.3 มีความผิดปกติทางจิตชนิดคลุ้มคลั่ง (Manic disorder) และร้อยละ 34.9 มีความผิดปกติทางจิตชนิดซึมเศร้ารุนแรง (Major depressive disorder) ผู้ป่วยเสพยาบ้ามีอันตรายการเกิดความผิดปกติท่างจิตชนิดหวาดกลัว (Panic attack) และความผิดปกติทางจิตชนิดคลุ้มคลั่ง (Manic disorder) มากกว่าผู้ป่วยเสพเฮโรอีนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p=value<0.05) จากการสัมภาษณ์เชิงลึกพบว่า ปัจจัยที่สัมพันธ์กับการเสพยาบ้า และเฮโรอีนของผู้ป่วยคือ ปัญหาครอบครัว ความรู้สึกด้อยคุณค่าของตนเอง การมีเพื่อนที่ใช้ยาเสพติด การถูกชักชวนให้ใช้ยาเสพติดโดยกลุ่มเพื่อน สามารถหาซื้อยาเสพติดได้ง่ายในชุมชน และสภาพปัญหาทางจิตใจที่เกิดจากการใช้ยาเสพติด ผู้ป่วยส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่าผู้ป่วยที่ติดยาเสพติดต้องการให้สังคมยอมรับเพื่อช่วยให้มีกำลังใจที่จะเลิกเสพยาเสพติด

Keywords: ยาเสพติด, สารเสพติด, ปัจจัยทางจิตสังคม, เฮโรอีน, amphetamine

ปีที่เผยแพร่/Year: 2545

Address: กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 000156

ISSN/ISBN: 974-90572-3-6

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -