ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: สุภาวดี นวลมณี

ชื่อเรื่อง/Title: การพัฒนาคู่มือการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาสุขภาพจิตเด็กด้อยโอกาส

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 8 ประจำปี 2545 สุขภาพจิตกับยาเสพติด หน้า 106

รายละเอียด / Details:

จากการศึกษาปัญหาสุขภาพจิตและปัญหาการดูแลเด็กในสถานพินิจและคุ้มคร้องเด็กและเยาวชนทั่วประเทศในปี พ.ศ. 2544 พบว่าเด็กและเยาวชนมีปัญหาสุขภาพจิตในหลายๆด้าน ส่วนหนึ่งมีความรู้สึกไร้ค่า สังคมรังเกียจ ไม่มีเป้าหมายในชีวิต อยู่ไปวันๆ มีความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคมต่ำ การควบคุมอารมณ์ตนเองได้น้อย มักคิดเข้าข้างตนเองเป็นหลัก มีอารมณ์ไม่สมวัย ต่อต้านสังคม และไม่ไว้วางใจใคร ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการเสริมในการเรียนรู้ในเรื่องอื่นๆ ขณะเดียวกันก็พบผู้ดูแลเด็กยังขาดทักษะในการพัฒนาเด็กอย่างเหมาะสม มีทัศนคติต่อเด็กในเชิงลบ คือมองเด็กในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กนั้นแก้ไขหรือพัฒนาให้ดีขึ้นไม่ได้ ประกอบกับผู้ดูแลเด็กขาดแนวทางที่เหมาะสมในการพัฒนาเด็ก ผู้วิจัยจึงร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนพัฒนาคู่มือการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาสุขภาพจิตของเด็กขึ้น โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่ด้านการพัฒนาเด็กสามารถนำไปเป็นแนวทางในการฝึกอบรมเด็ก เพื่อให้เด็กมีสุขภาพจิตที่ดี มีความรู้สึกต่อตนเองและบุคคลรอบข้างดีขึ้น มีความรู้สึกว่าตนเองมีค่าเกิดความภาคภูมใจในตนเอง มีการแสดงอารมณ์ที่เหมาะสมและมีความพร้อมในการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองให้มีคุณภาพต่อไป และเพื่อให้ทราบถึงสัมฤทธิ์ผลของการใช้คู่มือดังกล่างเพื่อพัฒนาเด็ก ผู้วิจัยจึงได้ดำเนินการศึกษาวิจัยแบบกึ่งทดลองเพื่อประเมินประสิทธิผลของการใช้คู่มือการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาเด็ก ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมเพื่อการเตรียมความพร้อมและสร้างสัมพันธภาพ 30 กิจกรรม กิจกรรมเพื่อพัฒนาความมีคุณค่าในตนเอง 28 กิจกรรม และกิจกรรมเพื่อการแก้ไขพฤติกรรมที่เป็นปัญหา 5 กิจกรรม ได้ดำเนินการวิจัยโดยแบ่งเด็กเป็นกลุ่มควบคุม ซึ่งในการทดลองได้ให้เด็กเข้ารับการฝึกอบรมแผนกิจกรรมรวมทั้งสิ้น 63 กิจกรรม เป็นเวลา 15 วัน และได้ประเมินความรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง และวุฒิภาวะทางอารมณ์ ทั้งในระยะก่อนและหลังการเข้าร่วมกิจกรรม ทั้ง 2 กลุ่ม และทำผลการทดสอบทั้ง 2 กลุ่มเปรียบเทียบเพื่อวิเคราะห์ประสิทธิผลของการทำกิจกรรมตลอดจนความคิดเห็นต่อการเข้าร่วมกิจกรรม โดยให้ดำเนินการประชุมกลุ่มผู้ดูแลเด็ก และเด็กที่เข้าร่วมกิจกรรม เพื่อนำข้อมูลประกอบการปรับปรุงแก้ไขและพัฒนาคู่มือให้มีความสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาต่อไป ผลการศึกษา จากผลประเมินความรู้สึกมีคุณค่าในตนเองของเด็กกลุ่มทดลองพบว่า เด็กมีการเห็นคุณค่าในตนเองสูงขึ้น มีทัศนคติต่อสังคมและเพื่อนที่ดีขึ้น มีการควบคุมตนเองดีขึ้น รู้สึกเห็นใจผู้อื่นมากขึ้นมีความรับผิดชอบดีขึ้น มีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์มากขึ้น การตัดสินใจแก้ปัญหาดีขึ้น มีสัทพันธภาพกับบุคคลอื่นดีขึ้น มีความรู้สึกภูมิใจในตนเอง และพอใจในชีวิตที่เป็นอยู่ โดยทุกประเด็นแตกต่างจากเด็กในกลุ่มควบคุม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ 0.05 เด็กมีความคิดเห็นต่อการเข้าร่วมกิจกรรมดังนี้คือ รู้สึกได้รับประโยชน์จากการเข้าร่วมกิจกรรมทำให้กล้าแสดงออก ได้ความรู้ดีอยากให้เด็กทุกคนได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรม ทำให้รู้จักวางแผนชีวิต และการแก้ไขปัญหา การดำรงชีวิตในอนาคต เป็นแสงนำทางชีวิตให้เกิดความคิดที่ดีๆ เหมือนอยู่ในโรงเรียนอีกครั้ง ผู้ดูแลเด็กมีทัศนคติต่อการจัดกิจกรรมว่า ทำให้เข้าใจแนวทางการพัฒนาเด็กอย่างเป็นขั้นเป็นตอน การพัฒนากิจกรรมการให้เด็กมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ ทำให้เข้าใจแนวทางการพัฒนาเด็กอย่างเป็นขั้นเป็นตอน การพัฒนากิจกรรมการให้เด็กมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ อยากให้นำคู่มือดังกล่าว เผยแพร่ให้ผู้ดูเด็กทุกแห่งได้ใช้เป็นแนวทางในการดูแลเด็กต่อไป

Keywords: คู่มือ, การจัดกิจกรรม, สุขภาพจิต, เด็กด้อยโอกาส, เยาวชน, ปัญหาสุขภาพจิต, mental health, child

ปีที่เผยแพร่/Year: 2545

Address: กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 000196

ISSN/ISBN: 974-90572-3-6

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -