ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: สมจิตต์ ลุประสงค์

ชื่อเรื่อง/Title: ความสุขของบุคลากรสาธารณสุขที่รับผิดชอบงานสุขภาพจิต จังหวัดนครพนม และจังหวัดมุกดาหาร

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 8 ประจำปี 2545 สุขภาพจิตกับยาเสพติด หน้า 110

รายละเอียด / Details:

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา (Descriptive Research) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเกี่ยวกับความสุขของบุคลากรสาธารณสุขที่รับผิดชอบงานสุขภาพจิต จังหวัดนครพนม และจังหวัดมุกดาหาร ตัวอย่างประชากรที่ใช้ในการศึกษา เป็นบุคลากรสาธารณสุขที่รับผิดชอบงานสุขภาพจิต ซึ่งปฏิบัติงานในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน และสถานีอนามัยทุกแห่ง ใน 2 จังหวัด คือนครพนม จำนวน 303 คน และจังหวัดมุกดาหาร จำนวน 102 คน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบวัดความสุขที่สร้างโดย กรมสุขภาพจิต จำนวน 66 ข้อ ผลการศึกษา พบว่ากลุ่มตัวอย่างของจังหวัดนครพนม เป็นเพศหญิง ร้อยละ 72.3 เพศชาย ร้อยละ 26.1 ส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 31-40 ปี ร้อยละ 41.5 การศึกษาระดับปริญญาตรี ร้อยละ 66.0 สถานภาพสมรสคู่ ร้อยละ 62.4 ระยะเวลาในการทำงานมากกว่า 10 ปี ร้อยละ 54.4 ส่วนจังหวัดมุกดาหารกลุ่มตัวอย่างเป็นเพศหญิง ร้อยละ 61.7 เพศชาย ร้อยละ 38.3 ส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง31-40 ปี ร้อยละ 44.2 การศึกษาระดับปริญญาตรี ร้อยละ 68.3 สถานภาพสมรสคู่ ร้อยละ 55.0 ระยะเวลาในการทำงานมากกว่า 10 ปี ร้อยละ 45.0 ผลการประเมินความสุข พบว่าทั้งจังหวัดนครพนมและจังหวัดมุกดาหารไม่มีความแตกต่างกันคือมีความสุขในระดับคนปกติทั่วไปมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 47.5 (นครพนม) และร้อยละ 53.5 (มุกดาหาร) รองลงมาคือความสุขในระดับที่มากกว่าคนปกติทั่วไป คิดเป็นร้อยละ 37.6 (นครพนม) และร้อยละ 35.0 (มุกดาหาร) และความสุขในระดับที่น้อยกว่าคนปกติทั่วไป คิดเป็นร้อยละ 14.9 (นครพนม) และร้อยละ 11.7(มุกดาหาร) สรุปและข้อเสนอแนะ จะเห็นได้ว่าเมื่อพิจารณาในภาพรวม บุคลากรสาธารณสุขที่รับผิดชอบงานสุขภาพจิตใน 2 จังหวัด คือนครพนม และมุกดาหาร ทั้งในระดับจังหวัด อำเภอ และตำบล มีความสุขในระดับเดียวกันกับคนทั่วไป ประมาณร้อยละ 50 มีความสุขมากกว่าคนทั่วไป ร้อยละ 36.9 และมีความสุขน้อยกว่าคนทั่วไปเพียง ร้อยละ 139. ข้อมูลเหล่านี้อาจจะสามารถสะท้อนถึงคุณภาพบริการสุขภาพจิตได้ เพราะถ้าหากผู้ให้บริการมีความสุข ก็คงจะสามารถให้บริการแก่ประชาชนได้อย่างมีความสุขด้วยเช่นกัน และเป็นข้อมูลสำหรับผู้บริหารที่จะสนับสนุนและเสริมสร้างขวัญ กำลังใจ ให้แก่ผู้ปฏิบัติงานได้อีกทางหนึ่ง

Keywords: ความสุข, สุขภาพจิต, บุคลากรสาธารณสุข, แบบวัดความสุข, แบบประเมิน, mental health, Happiness Indicator

ปีที่เผยแพร่/Year: 2545

Address: กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 000200

ISSN/ISBN: 974-90572-3-6

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -