ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: พิไลรัตน์ ทองอุไร

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาความต้องการและความฝันของผู้ต้องขังสตรีในทัณฑสถานหญิงจังหวัดสงขลา

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 8 ประจำปี 2545 สุขภาพจิตกับยาเสพติด หน้า 122

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล สตรีมีบทบาทสำคัญต่อประเทศชาติและครอบครัวทั้งด้านการผลิตประชากรและแรงงาน นอกจากนี้ยังมีอิทธิพลต่อประเทศชาติอีกด้วย ดังที่แพทย์หญิง สุพัฒนา เดชาติวงศ์ ณ อยุธยา (2526) กล่าวว่าเพียงอารมณ์และจิตใจของสตรีมีครรภ์ก็มีอิทธิพลต่อเด็กที่เกิดไม่น้อยกว่าสุขภาพกายเลย เพียงแต่สตรีใดรังเกียจบุตรในครรภ์อย่างรุนแรงก็อาจทำให้ประเทศชาติได้ยุวอาชญากรหรือผู้ป่วยโรคจิตโรคประสาทเพิ่มขึ้น ดังนั้นสตรีจึงมีบทบาทในการเป็นภรรยาและมารดามนุษยชาติ เมื่อสตรีต้องคดีรับโทษเป็นผู้ต้องขังในทัณฑสถานไม่ว่าจะสาเหตุใดก็ตาม ย่อมมีผลกระทบต่อสตรีเอง ต่อครอบครัวและสังคมอย่างมาก หากสตรีนั้นเป็นมารดาของบุตรย่อมทำให้เด็กขาดความอบอุน โดยเฉพาะนักโทษสตรีที่มีบุตรเล็กๆ ที่ต้องดื่มนมมารดาอาจต้องนำบุตรเข้าไปเลี้ยงในที่ต้องขังด้วย ทั้งเป็นสถานที่ไม่เหมาะสมต่อเด็ก เมื่อพิจารณาจากสถิติผู้ต้องขังสตรีทั่วประเทศ ซึ่งสำรวจเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2539 พบว่า มีสตรีที่ต้องราชทัณฑ์ถึง 10,849 คน โดยมีผู้ต้องขังสตรีที่เป็นนักโทษเด็ดขาดถึง 6,041 คน นอกนั้นอยู่ระหว่างพิจารณา ไต่สวน หรือ อุทรธรณ์ฎีกา 2,750 คน ฝากสอบสวน 2,856 คน เป็นโรคจิต 5 คน และเป็นเด็ก 1 คน โดยมีความผิดในลักษณะของความผิดพระราชบัญญัติยาเสพติดและสารระเหยเกือบร้อยละ 49.67 คือ 4,629 คน และช่วงอายุของผู้ต้องขังสตรีที่พบมากที่สุดดคือวัยทำงานระหว่าง 25-40 ปี รวม 3,158 คน (กรมราชทัณฑ์, 2539) ซึ่งสตรีดังกล่าวอยู่ในช่วงวัยทำงาน เป็นกำลังของครอบครัวและประเทศชาติ เมื่อต้องโทษทำให้เกิดผลกระทบต่อครอบครัวเป็นอย่างมาก ฉะนั้น สตรีที่ต้องโทษจึงเป็นบุคคลที่เผชิญกับปัญหาทางด้านจิตสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การให้กำลังใจและการศึกษาถึงความต้องการของผู้ต้องขังสตรี จึงเป็นเรื่องที่สังคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพึงให้ความสนใจและให้ความช่วยเหลือ เพื่อให้โอกาสแก่ผู้กระทำความผิดได้พัฒนาตนเอง เพื่อลดหย่อนผ่อนโทษ มีโอกาสกลับไปสู่ครอบครัวได้เร็วขึ้น และจากการไปเยี่ยมผู้ต้องขังของคณาจารย์ภาควิชาการพยาบาลจิตเวช มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ร่วมกับฝ่ายการพยาบาลโรงพยาบาลประสาทสงขลา เนื่องในวันพยาบาลแห่งชาติ และทำกิจกรรมนันทนาการเพื่อส่งเสริมและให้กำลังใจทางด้านสุขภาพจิตแก่ผู้ต้องขัง เมื่อปี พ.ศ. 2543 จึงได้ทำการศึกษาความต้องการของผู้ต้องขังสตรีจำนวน 50 คน เพื่อศึกษาความต้องการของผู้ต้องขังในขั้นปฐมภูมิ ซึ่งจะเป็นแนวทางในการส่งเสริมและพัฒนาผู้ต้องขังสตรีต่อไป วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาความต้องการของผู้ต้องขังในขณะที่ต้องโทษในทัณฑสถานหญิงจังหวัดสงขลา ขอบเขตของการวิจัย กลุ่มประชากรเป็นผู้ต้องขังสตรีจำนวน 50 คน ที่ถูกจำคุกในทัณฑสถานหญิงจังหวัดสงขลา ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลเกาะแต้ว อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ระเบียบวิธีวิจัย 1. กลุ่มตัวอย่าง เป็นนักโทษสตรี จำนวน 50 คน 2. การสุ่มตัวอย่าง ใช้วิธีสุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจงโดยผู้คุมจัดหาให้ซึ่งเฉลี่ยจากผู้ต้องขังที่ถูกกำหนดโทษตั้งแต่ 1-33 ปี ที่ประพฤติตัวดีเป็นที่ไว้ใจได้ 3. ตัวแปรที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ อายุ การศึกษา คดี และความต้องการ 4. เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ผู้สัมภาษณ์ ผู้ควบคุมดูแลอุปกรณ์ในการนันทนาการ กระดาษ ดินสอ 5. การเก็บรวบรวมข้อมูล เป็นการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพ โดยการจัดโครงการส่งเสริมสุขภาพจิตผู้ต้องขัง ไปเยี่ยมเยียน เลี้ยงอาหารและทำกิจกรรมนันทนาการ เพื่อสร้างความคุ้นเคยให้เขียนความต้องการลงในกระดาษ รวมทั้งสัมภาษณ์ในกรณีที่เขียนหนังสือไม่เป็น และสัมภาษณ์ผู้ควบคุมดูแล และเก็บซ้ำในส่วนที่ไม่สมบูรณ์ และตรวจสอบจนได้ข้อมูลที่สมบูรณ์ 6. การวิเคราะห์ข้อมูล ข้อมู,เชิงคุณภาพ วิเคราะห์ข้อมูลตามวิธีการของโคไลซีร์ (Colaizzi's Phenomenological, 1987 cited in Coward $ Lewis, 1993) และ จัดกลุ่มหัวข้อที่เหมือนกันวิเคราะห์ทางสถิติเป็นค่าร้อยละ สรุปผลการวิจัย การศึกษาความต้องการของผู้ต้องขังสตรีในทัณฑสถานหญิงจังหวัดสงขลาเป็นการศึกษาเชิงคุณภาพและเสริมด้วยสถิติเชิงปริมาณ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความฝันและความต้องการของผู้ต้องขังสตรีในทัณฑสถานหญิงจังหวัดสงขลา จำนวน 50 คนที่ต้องโทษถูกพิพากษาให้จำคุกตั้งแต่ 1-33 ปี โดยวิเคราะห์ข้อมูลคุณภาพตามวิธีของโคไลซีร์ (Colaizzi' phenomenological, 1987 cited in Coward$lewis, 1993) และข้อมูลเชิงปริมาณ วิเคราะห์ทางสถิติเป็นค่าร้อยละ ซึ่งส่วนใหญ่มีอายุอยู่ระหว่าง 26-35 ปี ร้อยละ 38 การศึกษาประถมศึกษาปีที่ 1-7 ร้อยละ 58 คดีส่วนใหญ่ เป็นคดียาเสพติด ร้อยละ 82 สำหรับความฝันและความต้องการ ที่ต้องการมากที่สุดคือการพ้นโทษร้อยละ 100 รองลงมาคือต้องการอยู่กับครอบครัวที่อบอุ่น ร้อยละ 83.6 ต้องการเป็นคนดี ร้อยละ 46 อยากประกอบอาชีพต่างๆ ตามฝัน ร้อยละ 32.6 ต้องการให้สังคมยอมรับให้อภัยและให้โอกาส ร้อยละ 30.62 หางานที่สุจริตทำ ร้อยละ 12.25 ต้องการทำคดีต่อบ้านเมือง ร้อยละ 10.21 ส่วนที่ไม่ต้องการเกี่ยวข้องกับยาเสพติด อยากบวชชี และอยากปฏิบัติธรรม มีค่าเท่ากัน คือ ร้อยละ 4.8 สำหรับความฝันต่อความต้องการในการประกอบอาชีพจากการสัมภาษณ์ มีดังนี้ อยากเป็นนักธุรกิจ ร้อยละ 8 อยากเป็นพยาบาล ครู ช่างเสริมสวย อย่างละ ร้ออยละ 4.08 นอกนั้นฝันอยากเป็นแพทย์ ทนายความ นักสังคมสงเคราะห์ นักเขียน ไกด์นำเที่ยว นักโดดร่ม ผู้คุม อย่างละ ร้อยละ 2 และอีกหลายคนตอบไม่ได้ว่าฝันอยากเป็นอะไร

Keywords: สุขภาพจิต, mental health, psychology, จิตวิทยา, สตรี, สุขภาพจิตของสตรี, ผู้ต้องขัง, นักโทษหญิง

ปีที่เผยแพร่/Year: 2545

Address: กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 000212

ISSN/ISBN: 974-90572-3-6

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -