ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: สมจิตต์ ลุประสงค์

ชื่อเรื่อง/Title: การดูแลผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อน

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 8 ประจำปี 2545 สุขภาพจิตกับยาเสพติด หน้า 155

รายละเอียด / Details:

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยปฏิบัติการ (Action Research) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการดูแลผู้ป่วยจิตเวชโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน จังหวัดนครพนม ดำเนินการใน 2 พื้นที่ คือเขตเมืองและเขตชนบท เขตเมือง ได้แก่ ชุมชนดอนเมือง อำเภอเมือง ส่วนเขตชนบทได้แก่ บ้านนาซ่อม ตำบลท่าเรือ อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม ระหว่างเดือนเมษายน - กันยายน 2545 ดำเนินการวิจัยโดยการจัดสนทนากลุ่ม (Focus Group) ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วยจิตเวชในชุมชน ชุมชนละ 20-25 คน กลุ่มตัวอย่างประชากร ได้แก่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านย อสม. อบต. พระสงฆ์ ญาติผู้ป่วย ประชาชน ครู เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพื่อระดมสมอง ร่วมคิด หาแนวทางร่วมกันเพื่อการดูแลช่วยเหลือผู้ป่วย และร่วมแรงร่วมใจในการดำเนินการช่วยเหลือตามแนวทางที่กำหนดไว้ ติดตามประเมินผลการดำเนินงานหลังการสนทนากลุ่ม 2 ครั้ง คือ 1 เดือน และ 3 เดือน โดยการประเมินผู้ป่วยจิตเวชเป็นรายบุคคล สัมภาษณ์ญาติผู้ป่วย การสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างที่เข้าร่วมสนทนากลุ่ม และสัมภาษณ์ประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนนั้นๆ ผลการวิจัยพบว่าชุมชนได้ร่วมคิดโครงการ/กิจกรรมที่จะดูแลช่วยเหลือผู้ป่วย กำหนดผู้รับผิดชอบและระยะเวลาดำเนินการ มีผู้ป่วยจิตเวชที่ได้รับการดูแลโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน จำนวน 20 ราย โดยแยกเป็นเขตเมือง 13 ราย เขตชนบท 7 ราย ผู้ป่วยทุกรายได้รับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากโรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลจิตเวชแบบผู้ป่วยนอก อาการทางจิตทุเลา สามารถดูแลตนเองได้ตามสมควรญาติผู้ป่วยมีความพึงพอใจ ชุมชนให้การยอมรับผู้ป่วยมากขึ้น สรุปและข้อเสนอแนะ ผู้ป่วยจิตเวชส่วนใหญ่มักมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นผู้ป่วยเรื้อรัง จึงเป็นภาระของครอบครัวและชุมชน แต่ถ้าหากชุมชนและครอบครัวเข้าใจ ให้การยอมรับผู้ป่วยจิตเวชเป็นสมาชิกคนหนึ่งของสังคม ก็จะทำให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง จากการศึกษาครั้งนี้มีข้อสังเกตว่า การที่ผู้ป่วยจิตเวชจะได้รับการดูแลช่วยเหลือมากน้อยเพียงใด ขึ้นกับ 2 ปัจจัยหลักคือ การมีส่วนร่วมของชุมชน และการติดตามดูแลช่วยเหลืออย่างสม่ำเสมอของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ ดังนั้น จึงควรสร้างเสริมการมีส่วนร่วมให้เกิดขึ้นในทุกชุมชน เพื่อให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง สามารถดูแลช่วยเหลือกันเองได้ โดยเฉพาะในส่วนของผู้ให้บริการ คือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ควรสนับสนุนระบบเครือข่ายบริการสุขภาพจิตให้มีความเข้มแข็งด้วยเช่นกัน โดยการสนับสนุน ทั้งด้านความรู้ เทคโนโลยี และขวัญกำลังใจในการทำงานให้มีความพร้อมในการให้บริการแก่ประชาชนมากที่สุด

Keywords: ผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อน, จิตเวช, โรคจิต, เร่ร่อน, ชุมชน

ปีที่เผยแพร่/Year: 2545

Address: กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 000237

ISSN/ISBN: 974-90572-3-6

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -