ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: พรทิพย์ วชิรดิลก

ชื่อเรื่อง/Title: ปัจจัยที่สัมพันธ์กับความสามารถของญาติในการดูแลผู้ป่วยจิตเภทที่บ้านกรณีศึกษา : โรงพยาบาลอุดรธานี

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 8 ประจำปี 2545 สุขภาพจิตกับยาเสพติด หน้า 158

รายละเอียด / Details:

โรคจิตเภทจัดเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญโรคหนึ่งของประเทศไทย เพราะพบมากถึงร้อยละ 1 ของประชากรทั่วไป และมีออัตรากำเริบสูงถึง ร้อยละ 50-70 ผู้ป่วยจิตเภทต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องและระยะนาน ดังนั้น การพัฒนาศักยภาพความสามารถของญาติผู้ดูแลและชุมชนในการดูแลผู้ป่วยจิตเภทจึงมีความสำคัญและส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย การวิจัยเชิงพีณาครั้งนี้ มีวัถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยนำ ได้แก่ความรู้เกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยจิตเภท และเจตคติต่อการดูแลผู้ป่วยจิตเภทปัจจัยเอื้อ ได้แก่ การเข้ากลุ่มสุขศึกษา การเข้าร่วมโครงการฯ และประสบการณ์ในการดูแลป่วยจิตเภท ปัจจัยเสริม ได้แก่ การสนับสนุนทางสังคมจากชุมชน การสนับสนุนจากหน่วยงานสงเคราะห์ และการติดตามเยี่ยมจากบุคลากรสาธารณสุข กับความสามารถของญาติในการดูแลผู้ป่วยจิตเภท กลุ่มตัวอย่างเป็นญาติผู้ดูแลผู้ป่วยจิตเภทที่มารับบริการ ณ คลินิกจิตเวชโรงพยาบาลอุดรธานี ระหว่างเดือน เมษายน 2545 ถึง เดือนพฤษภาคม 2545 ขนาดของกลุ่มตัวอย่างใช้หลักการ 20 เท่า ของจำนวนตัวแปรอิสระ ซึ่งมีจำนวน 8 ตัว กลุ่มตัวอย่างจึงมีจำนวน 160 คน โดยเลือกแบบเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูล ประกอบด้วย แบบสัมภาษณ์ 1 ชุด แบ่งข้อมูลเป็น 4 ส่วนคือ ข้อมูลส่วนบุคคล ความรู้เกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยจิตเภท เจตคติต่อการดูแลผู้ป่วยจิตเภท และความสามารถในการดูแลผู้ป่วยจิตเภทที่บ้าน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน และการวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณแบบเป็นขั้นตอน ผลการศึกษา พบว่า ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ระหว่าง คว่ามรู้เกี่ยวกับการดูแล ผู้ป่วยจิตเภทเจตคติต่อการดูแลผู้ป่วยจิตเภท การเข้ากลุ่มสุขศึกษา การเข้าร่วมโครงการฯ การสนับสนุนจากชุมชน และการติดตามเยี่ยมจากบุคลากรสาธารณสุข มีความสัมพันธ์กันทางบวกในระดับต่ำกับความสามารถของญาติในการดูแลผู้ป่วยจิตเภทที่บ้านอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p‹.01) ยกเว้นการสนับสนุนจากหน่วยงานสงเคราะห์ และประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยจิตเภท ไม่มีความสัมพันธ์กับความสามารถของญาติในการดูแลผู้ป่วยจิตเภทที่บ้านและตัวพยากรณ์ เจตคติ ความรู้ และการสนับสนุนจากชุมชนสามารถทำนายความสามารถของญาติในการดูแลผู้ป่วยจิตเภทที่บ้านได้ ร้อยละ 82 โดยเจตคติต่อการดูแลผู้ป่วยที่บ้านเป็นตัวพยากรณ์ที่ดีที่สุด สรุป การดูแลผู้ป่วยที่บ้าน นับว่าเป็นบทบาทสำคัญที่ญาติผู้ดูแลจะต้องปฏิบัติต่อผู้ป่วยจิตเภทอย่างถูกต้องและเหมาะสม จึงจะป้องกันอาการกำเริบ การกลับป่วยซ้ำ และการถูกล่ามขังของผู้ป่วยได้ การมุ่งเน้นเสริมสร้างทั้งเจตคติด้านบวกต่อการดูแลผู้ป่วยจิตเภท ความรู้เกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยจิตเวช ตลอดจนการสร้างความตระหนักให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วย เพื่อให้เกิดเครือข่ายและระบบการดูแลผู้ป่วยที่มีประสิทธิภาพ ผลการศึกษาครั้งนี้สามารถนำไปพัฒนาและปรับปรุงระบบการดูแลผู้ป่วยจิตเภทที่บ้านให้ความเหมาะสมและครอบคลุมมากขึ้น

Keywords: ผู้ป่วยจิตเภท, จิตเภท, ญาติ, ครอบครัวผู้ป่วยโรคจิต, การที่ดูแลที่บ้าน, โรคจิต, ชุมชน, บ้าน

ปีที่เผยแพร่/Year: 2545

Address: กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 000240

ISSN/ISBN: 974-90572-3-6

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -