ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ศักดา ขำคม

ชื่อเรื่อง/Title: การเสริมสร้างความหวังในผู้ป่วยจิตเภทด้วยกระบวนการกลุ่ม

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 8 ประจำปี 2545 สุขภาพจิตกับยาเสพติด หน้า 178

รายละเอียด / Details:

ความหวังเป็นปัจจัยสำคัญในการฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพจิต โดยเฉพาะผู้ที่เผชิญกับความรู้สึกสิ้นหวัง เพราะความหวังจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถทนสถานการณ์ที่ยุ่งยากและคงแรงจูงใจในการกระทำสิ่งต่างๆ ไว้ การพัฒนาและเสริมสร้างความหวังในผู้ป่วยจิตเวชถือเป็นภารกิจหนึ่งที่มีความสำคัญซึ่งพยาบาลจิตเวชพึงปฏิบัติ การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการเสริมสร้างความหวังในผู้ป่วยจิตเภทชายด้วยกระบวนการกลุ่ม กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยจิตเภทชายที่เข้ารับการบริการที่หอผู้ป่วยจิตเวชชาย 6 ของโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ ซึ่งมีคุณสวมบัติตามที่กำหนดไว้ จำนวน 16 คน โดยแบ่งเป็นกลุ่มทดลอง และกลุ่มควบคุมกลุ่มละ 8 คน โดยการสุ่มอย่างง่าย กลุ่มทดลองได้รับการเข้ากลุ่มเสริมสร้างความหวังที่ผู้ศึกษาจัดให้ ส่วนกลุ่มควบคุมได้รับการดูแลตามปกติ เครื่องมือที่ใช้ในการดำเนินการศึกษา คือ กลุ่มเสริมสร้างความหวังเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูล ได้แก่ แบบสอบถามข้อมูลทั่วไป แบบวัดความหวัง และเทปบันทึกเสียงขณะทำกลุ่ม ผู้ศึกษาได้ทำการรวบรวมข้อมูลด้วยตัวเอง โดยการสัมภาษณ์ข้อมูลทั่วไปและให้กลุ่มตัวอย่างทำแบบวัดความหวัง กลุ่มทดลองได้ทำกลุ่มเสริมสร้างความหวังจำนวน 4 ครั้ง ครั้งละ 90 นาที วันเว้นวัน กลุ่มควบคุมได้รับการดูแลตามปกติแล้วนัดมาทำแบบวัดความหวังชุดเดิม ห่างจากครั้งแรก 1 สัปดาห์ การวิเคราะห์ใช้โปรแกรม SPSS version 9.0 for Windows ในการแจกแจงความถี่และทดสอบความแตกต่างของคะแนนความหวังระหว่างกลุ่มทดลองกับกลุ่มควบคุม โดยใช้การทดสอบ (t-test) และวิเคราะห์เนื้อหา การดำเนินกลุ่ม ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มทดลองที่ได้รับการเสริมสร้างความหวังด้วยกระบวนการกลุ่ม มีค่าคะแนนเฉลี่ยของความหวังสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 เมื่อพิจารณาความหวังในแต่ละด้านพบว่า ความหวังด้านการมองอนาคตในแง่ดี ด้านการพึ่งพาผู้อื่น การมีทางเลือกของตนเอง การตั้งเป้าหมายในชีวิต ความไว้วางใจเชื่อถือผู้อื่นและการกล้าเผชิญปัญหาอย่างอุตสาหะ มีคะแนนสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 และจากการวิเคราะห์การดำเนินกลุ่ม พบว่า กระบวนการกลุ่มช่วยให้สมาชิกมีการพัฒนาความหวังตามแนวคิดความหวังของเบคและคณะ (Beck et al., 1984) กล่าวคือ สมาชิกมีการพัฒนาสัมพันธภาพที่ดีภายในกลุ่ม มีความสามารถในการเผชิญปัญหาและแก้ไขปัญหา มีการกำหนดเป้าหมายและวางแผนการดำเนินชีวิตในอนาคตของตนเอง ตลอดจนการพึ่งพาผู้อื่น ซึ่งจากผลการศึกษาครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่าในผู้ป่วยจิตเภทชายสามารถเสริมสร้าง ความหวังได้ด้วยกระบวนการกลุ่ม ดังนั้นจึงควรมีการส่งเสริม สนับสนุนให้มีการจัดกลุ่มเสริมสร้าง ความหวัง รวมทั้งศึกษาวิจัยเพื่อหารูปแบบกิจกรรมในการเสริมสร้างความหวังให้มีความเหมาะสมกับ ผู้ป่วยจิตเวชแต่ละโรคหรือแต่ละพฤติกรรมต่อไป

Keywords: ความหวัง, กระบวนการกลุ่ม, กลุ่มบำบัด, กิจกรรมกลุ่ม, ผู้ป่วยจิตเภท, จิตเภท, โรคจิต, จิตเวช, group , schizophrenia, schizo

ปีที่เผยแพร่/Year: 2545

Address: กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 000256

ISSN/ISBN: 974-90572-3-6

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -