ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: รจนา กุลรัตน์ สส.ม.

ชื่อเรื่อง/Title: การทดลองหาประสิทธิผลของคู่มือเทคนิคการครองชีวิตคู่ (An Experiment on Effectiveness of Marital Technigues Guidance Book)

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัย พ.ศ 2545 พ.ศ 2545

รายละเอียด / Details:

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสิทธิผลของคู่มือเทคนิคการครองชีวิตคู่ในเรื่องความรู้ ทัศนคติ การปฏิบัติตนเกี่ยวกับการครองชีวิตคู่ และศึกษาความคิดเห็นที่มีต่อคู่มือ ประชากร และกลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาเป็นสตรีที่แต่งงานแล้วและอยู่กับสามี มีอายุไม่เกิน 50 ปี เป็นผู้ที่มีความรู้ไม่ต่ำกว่าการศึกษาภาคบังคับ 6 ปี และสามารถพูด อ่าน เขียน ภาษาไทยได้คล่องแคล่ว จำนวน 60 คน เก็บรวบรวมโดยการประชาสัมพันธ์เชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมโครงการเมื่อมีผู้สนใจติดต่อสมัครเข้ามาได้ทำการคัดเลือกตามเกณฑ์ที่กำหนด และส่งแบบทดสอบไปให้ตอบ เพื่อการวัดผลครั้งแรกก่อน เมื่อได้รับแบบทดสอบคืนมา จึงส่งคู่มือไปให้อ่าน หลังจากนั้น 1 เดือน จึงให้กลุ่มตัวอย่างตอบแบบทดสอบเพื่อการวัดผลครั้งที่ 2 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติร้อยละ(Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard deviation) และวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (Oneway anova) ประมวลผลด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์โปรแกรม SPSS/WINDOW ผลของการวิจัยได้ข้อสรุปดังนี้ 1. กลุ่มตัวอย่างส่วนมาก ร้อยละ 45 มีอายุ 30-39 ปี ซึ่งมีจำนวนเท่า ๆ กับผู้มีอายุ 40 ปี ขึ้นไป รวมเป็นร้อยละ 90 ส่วนมากร้อยละ 51.1 จบการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป ร้อยละ 35 มีรายได้อยู่ระหว่าง 10,000-19,999 บาท ต่อเดือน ด้านปัญหาในการครองชีวิตคู่พบว่าร้อยละ 78.3 มีปัญหาในการครองชีวิตคู่ โดยพบว่าส่วนมาก ร้อยละ 73.3 มีปัญหาความขัดแย้ง ไม่เข้าในกันในเรื่องต่าง ๆ รองลงมาร้อยละ 16.7 มีปัญหาการถูกนอกใจ 2. ความรู้เกี่ยวกับการครองชีวิตคู่ จากการพิจารณารายข้อพบว่า กลุ่มตัวอย่างมีความรู้ค่อนข้างมากทั้งก่อนทดลองและหลังทดลอง แต่ส่วนมากหลังทดลองมีความรู้มากกว่าก่อนทดลอง เมื่อแจกแจงระดับความรู้พบว่า หลังทดลองมีความรู้ระดับมาก มากกว่าก่อนทดลอง ร้อยละ 66.7 : 31.7 เมื่อเปรียบเทียบความรู้พบว่า หลังทดลองกลุ่มตัวอย่างมีความรู้ในการครองชีวิตคู่มากกว่าก่อนทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.05 3. ทัศนคติต่อชีวิตคู่ จากการพิจารณารายข้อพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนมากมีทัศนคติที่ดีใกล้เคียงกัน ทั้งก่อนทดลองและหลังทดลอง เมื่อแจกแจงระดับทัศนคติพบว่า หลังทดลองมีทัศนคติระดับดีมาก มากกว่าก่อนทดลอง ร้อยละ 73.3 : 43.3 เมื่อเปรียบเทียบทัศนคติพบว่า หลังทดลองกลุ่มตัวอย่างมีทัศนคติต่อชีวิตคู่ดีกว่าก่อนทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.05 4. การปฏิบัติตนเกี่ยวกับการครองชีวิตคู่ จากการพิจารณารายข้อพบว่า หลังทดลองกลุ่มตัวอย่างส่วนมากมีการปฏิบัติตนที่เหมาะสมกว่าก่อนทดลอง เมื่อแจกแจงระดับการปฏิบัติตนพบว่า หลังทดลองมีการปฏิบัติตนในระดับเหมาะสมมาก มากกว่าก่อนทดลอง ร้อยละ 41.7 : 25.0 เมื่อเปรียบเทียบการปฏิบัติตนพบว่า หลังทดลองกลุ่มตัวอย่างมีการปฏิบัติตนที่เหมาะสมกว่าก่อนทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.05 5. ความคิดเห็นต่อคู่มือการครองชีวิตคู่พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนมาก ร้อยละ 43.3 เห็นว่าคู่มืออยู่ในระดับดีมาก อีกร้อยละ 28.3 เห็นว่าดีปานกลาง เมื่อเปรียบเทียบในกลุ่มอายุ การศึกษา อาชีพ รายได้ ที่แตกต่างกัน และในกลุ่มผู้มีปัญหากับผู้ไม่มีปัญหาพบว่า ความคิดเห็นไม่แตกต่างกัน

Keywords: คู่มือ, เทคนิคการครองชีวิตคู่, สมรส, ชีวิตคู่, Marital Technigues, marital technigues

ปีที่เผยแพร่/Year: 2545

Address: โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 00027

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -