ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: เอกอุมา วิเชียรทอง

ชื่อเรื่อง/Title: การปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูงในการพัฒนารูปแบบการดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่บ้าน

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 8 ประจำปี 2545 สุขภาพจิตกับยาเสพติด หน้า 197-198

รายละเอียด / Details:

รัฐบาลได้กำหนดเป้าหมายที่สำคัญที่สุดในนโยบายการปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ คือการให้ประชาชนทุกคนมีสุขภาพกาย ใจ สังคมและสุขภาพจิตวิญญาณที่ดีให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างทั่วถึง มีประสิทธิภาพ เป็นธรรม มีคุณภาพและได้มาตรฐาน ซึ่งในปัจจุบันปัญหาสุขภาพโดยเฉพาะปัญหาสุขภาพจิตและจิตเวชมีความซับซ้อนมากขึ้น พยาบาลจิตเวชเป็นบุคลากรกลุ่มใหญ่ที่สุดในทีมสหวิชาชีพด้านสุขภาพจิตและจิตเวชจำเป็นต้องพัฒนาการดูแลผู้ป่วยให้เหมาะสมกับสภาพปัญหาและความต้องการรวมทั้งสามารถตรึงผู้ป่วยให้อยู่ในสังคมได้ โดยมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีศักดิ์ศรีในสังคม โดยเฉพาะการดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่บ้านซึ่งเป็นผู้ป่วยที่มีปัญหาซับซ้อน จำเป็นต้องอาศัยสมรรถนะในการให้บริการและทักษะเฉพาะด้านเพื่อทำความเข้าใจและแก้ปัญหาด้านจิตเวช ให้การดูแลผู้ป่วยที่มีปัญหาซับซ้อนได้อย่างมีคุณภาพ ปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูงในการพัฒนารูปแบบการดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่บ้าน ภายใต้กระบวนการขอรับรองคุณภาพโรงพยาบาล : โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา มีบทบาทดังนี้ 1. การปฏิบัติการพยาบาลในสาขาที่เชี่ยวชาญ ให้การดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่บ้าน โดยใช้กระบวนการทางการพยาบาล ประเมินสภาวะด้านร่างกาย จิตใจ สังคมและสภาพแวดล้อม/ชุมชน ของผู้ป่วย การทำจิตบำบัดรายบุคคล การทำครอบครัวบำบัด การบริหารจัดการให้ผู้ป่วยได้รับยาอย่างต่อเนื่อง ปฏิบัติการพยาบาลในผู้ป่วยจิตเวชที่มีปัญหาซับซ้อน เช่น ปัญหาสัมพันธภาพในครอบครัว การใช้ชีวิตอยู่ในสังคม การทำงานและการหารายได้ เป็นต้น 2. การให้ความรู้ สอน ชี้แนะ ขั้นตอน ทักษะในการดูแลผู้ป่วยจิตเวชในชุมชนแก่บุคลากรทีมสหวิชาชีพ พัฒนาสมุดบันทึกสุขภาพและแบบประเมินอาการให้เหมาะสมกับผู้ป่วยและโรคที่เป็นอยู่ ส่งเสริม evidence-based practice โดยการอ่าน/วิเคราะห์งานวิจัยร่วมกับทีมสหวิชาชีพ ให้ความรู้ตามแผนสุขภาพจิตศึกษาแก่ผู้ป่วยจิตเวชและญาติ 3. การเป็นที่ปรึกษา ให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์แก่ผู้ป่วยและครอบครัวตลอด 24 ชั่วโมง ให้คำปรึกษาเป็นที่ปรึกษาแก่นักศึกษาพยาบาลนักศึกษาแพทย์ นักศึกษาสาขาต่างๆ และแพทย์ประจำบ้าน 4. การวิจัย ประเมินและติดตามผลการดูแลผู้ป่วยที่บ้านทุก 3 เดือนแล้ว นำข้อมูลที่ได้มาวางแผนให้บริการ นำงานวิจัยที่เกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่บ้านมาประยุกต์ใช้ทำวิจัยประเมินผลโครงการการดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่บ้าน 5. การบริหารจัดการ ร่วมกับหัวหน้ากลุ่มงาน หัวหน้าพยาบาลและทีมนำทางคลินิกวางแผนในการจัดบริการดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่บ้าน จัดทำวิธีการปฏิบัติงานในการดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่บ้านร่วมกับทีมนำทางคลินิก ทีมประสานงานคุณภาพและทีมบริหารความเสี่ยง 6. ประสานความร่วมมือ ระหว่างองค์กรต่างๆ ในโรงพยาบาล โดยการจัดอบรมแจ้งข่าวสาร จัดประชุมตามสภาพปัญหา/สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป 7. การตัดสินทางจริยธรรม ใช้ข้อบังคับของสภาการพยาบาลเป็นแนวทางในการตัดสินใจเกี่ยวกับจรรยาบรรณในการปฏิบัติงาน 8. การเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง พัฒนารูปแบบการดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่บ้านโดยการผสมผสานกระบวนการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาล เช่น การนำข้อมูลโปรแกรมรายงานอุบัติ-การณ์ความเสี่ยงมาใช้ในการวางแผนให้การดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่บ้าน การเข้าร่วมเป็นทีมประสานงานคุณภาพเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลภายในโรงพยาบาล 9. การสร้างนวตกรรมทางการพยาบาล สร้างโปรแกรมการดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่บ้าน ภายใต้กระบวนการขอรับรองคุณภาพโรงพยาบาลที่เหมาะสมกับสภาพผู้ป่วยในชุมชนเมือง รวมทั้งสร้างโปรแกรมฐานข้อมูลผู้ป่วยจิตเวชที่จำหน่ายจากโรงพยาบาลในโครงการดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่บ้านเพื่อส่งศูนย์บริการสาธารณสุขในเขตกรุงเทพมหานครโดยผ่านเครือข่าย internet 10. การประกันคุณภาพบริการทางการพยาบาล ปฏิบัติการพยาบาลตามกรอบ มาตรฐานการดูแลสภาพที่บ้าน มีการประเมินผลการปฏิบัติการพยาบาลอย่างต่อเนื่อง โดยใช้แบบวัดทางคลินิกและบริการ การปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูงเป็นการปฏิบัติโดยพยาบาลผู้มีความรู้ความชำนาญเฉพาะสาขาต้องใช้องค์ความรู้จากการบูรณาการความรู้ ผลการวิจัย ทฤษฎี ศาสตร์ทางการพยาบาล ข้อมูลเชิงประจักษ์และเหตุผลทางพยาธิสรีรวิทยารวมทั้งความสามารถในการปฏิบัติงานร่วมกับบุคลากรในทีมสหวิชาชีพได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยใช้วิจารณญาณอย่างรอบคอบในการตัดสินใจเพื่อปฏิบัติการพยาบาล เป็นทักษะที่ควรพัฒนาอย่างต่อเนื่องควบคู่กับการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมเพื่อเป็นการประกันคุณภาพการพยาบาลว่าผู้ป่วยจะรับบริการที่มีคุณภาพสูงสุด

Keywords: ปฏิบัติการพยาบาล, การพยาบาลขั้นสูง, การพยาบาลผู้ป่วยจิตเวช, พยาบาลจิตเวช, บริการพยาบาล, พยาบาล, การดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่บ้าน nursing home health care psychiatric nursing care

ปีที่เผยแพร่/Year: 2545

Address: กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 000273

ISSN/ISBN: 974-90572-3-6

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -