ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ละเอียด ปัญโญใหญ่

ชื่อเรื่อง/Title: การประเมินผลความก้าวหน้าการดำเนินงานการดูแลผู้ป่วยโรคจิตอย่างต่อเนื่อง จังหวัดกาฬสินธุ์ ปี 2544

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 8 ประจำปี 2545 สุขภาพจิตกับยาเสพติด หน้า 206-207

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นได้จัดทำโครงการดูแลผู้ป่วยโรคจิตอย่างต่อเนื่อง ขึ้น โดยมีวัถุประสงค์เพื่อให้ผู้ป่วยโรคจิตสามารถดูแลตนเองได้ โดยครอบครัวและชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วยในปีงบประมาณ 2544 ขึ้นมีแนวคิดว่าโครงการนี้จะก่อประโยชน์ต่อผู้ป่วยและครอบครัว เพื่อให้เข้าถึงบริการที่เหมาะสม ตลอดจนแบ่งเบาภาระของโรงพยาบาลที่ต้องรับผู้ป่วยไว้ในโรงพยาบาลจำนวนมาก และสุดท้ายผู้ป่วยครอบครัว และชุมชน มีที่ปรึกษา ตลอดจนมีการติคต่อสื่อสารกับบุคลากรอย่างต่อเนื่องอีกด้วย อย่างไรก็ตามเพื่อที่จะ ทราบข้อมูลต่างๆ ซึ่งจะเป็นเสมือนกระจกส่องให้ผู้ปฏิบัติงาน มองเห็นจุดดี จุดด้อย และปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงาน อันจะเป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงการดำเนินงาน จึงจำเป็นต้อง การประเมินความก้าวหน้าของโครงการ เพื่อที่จะนำข้อมูลมาวางแผนปรับปรุงการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อไป วัตถุประสงค์ เพื่อประเมินผลความก้าวหน้าการดำเนินงานการดูแลผู้ป่วยโรคจิตอย่างต่อเนื่องจังหวัดกาฬสินธุ์ ปี 2544 เป็นการวิจัยเชิงประเมินผล โดยใช้ CIPP Model เป็นกรอบแนวคิดในการประเมิน ขอบเขตการวิจัย ประชากรที่ศึกษาประกอบด้วย 1. ผู้ป่วยโรคจิตที่มารับบริการของโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่น ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2544-มิถุนายน 2544 ที่มีภูมิลำเนาในจังหวัดกาฬสินธุ์ 2. ครอบครัวผู้ป่วยโรคจิต 3. ประชาชนในชุมชนที่ผู้ป่วยโรคจิตอาศัยอยู่ 4. เจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ระดับตำบล อำเภอ และจังหวัด ระเบียบวิธีวิจัย การสุ่มตัวอย่างใช้การสุ่มแบบ Two-stage cluster sampling ได้ผู้ป่วย 50 รายและสุ่มตัวอย่างประชาชนที่อาศัยในหมู่บ้านที่ตั้งของผู้ป่วยขนาดตัวอย่าง 385 คน ตัวแปรที่ศึกษาคือ บริบท (Context) ปัจจัยนำเข้า (Input) กระบวนการ (Process) และผลผลิต (Product) ของโครงการ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยผู้วิจัยสร้างขึ้นเอง และให้ผู้เชี่ยวชาญ 3 ท่าน ตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาแล้วนำมาทดสอบคุณภาพเครื่องมือ เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์ สังเกตุ และการตรวจสอบบันทึก วิเคราะห์ข้อมูล ใช้โปรแกรม SPSS for Windows ข้อมูลบริบท ปัจจัยนำเข้า กระบวนการดำเนินงานและผลผลิตใช้สถิติเชิงพรรณนาได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สรุปผลการวิจัย การประเมินบริบทพยว่าประชาชนส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง อายุเฉลี่ย 44 ปี มีรายได้เพียงพอไท่เหลือเก็บ ผู้ดูแลผู้ป่วยจิตเวชส่วนใหญ่เป็นหญิงเช่นเดียวกัน มีความสัมพันธ์กับผู้ป่วยคือ เป็นบิดา/มารดา ระยะการดูแลมากกว่า 5 ปี ผู้ป่วยจิตเวชส่วนใหญ่เป็นชาย อายุเฉลี่ย 28 ปี ส่วนเจ้าหน้าที่สาธารณสุขส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง รับผิดชอบงานมานาน 1-2 ปี เป็นส่วนใหญ่ สภาพสังคมในชุมชนพบว่าประชาชนในชุมชนให้ความร่วมมือต่อกิจกรรมของส่วนรวมดีทุกหมู่บ้าน ด้านความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยโรคจิตของประชาชนและผู้นำชุมชนพบว่า อยู่ในระดับ ร้อยละ 64.9 ส่วนการรับรู้ปัญหสอุปสรรคในการดูแลผู้ป่วยจิตเวช พบว่ามีการรับรู้ พอใช้ ร้อยละ 73.4 การประเมินปัจจัยนำเข้าพบว่าในระดับจังหวัด บุคลากรในการดำเนินงานมีไม่เพียงพอ ส่วนใหญ่เข้าใจวิธีการดำเนินงาน และวัสดุอุปกรณ์ตลอดจนงบประมาณในการดำเนินงาน มีเพียงพอ ส่วนระดับอำเภอและตำบล มีบุคลากรดำเนินงานเพียงพอ ส่วนใหญ่เข้าใจวิธีดำเนินงาน งบประมาณมีเพียงพอในการดำเนินงาน ผู้ให้บริการมีความรู้ในการดูแลผู้ป่วยในระดับดี ร้อยละ 84 การประเมินการดำเนินงานในระดับจังหวัดอำเภอ และตำบล มีการจัดองค์กร การกำหนดบทบาทหน้าที่ การจัดทำแผนงานโครงการ มีการประสานงาน การนิเทศติคตาม และมีการประชุมคณะทำงานเป็นส่วนใหญ่ ร้อยละ 80 ขึ้นไป การประเมินผลผลิต พบว่าพฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วยจิตเวชอยู่ในระดับมาก ร้อยละ 86 ภาระการดูแลของผู้ดูแลส่วนใหญ่อยู่ในระดับน้อย และพฤติกรรมหรืออาการของผู้ป่วยในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมาไม่มีผู้ป่วยคนใดมีพฤติกรรมรุนแรงจนถูกล่ามขัง

Keywords: ผู้ป่วยโรคจิต, การดูแลอย่างต่อเนื่อง, ครอบครัว, ชุมชน, จิตเวชชุมชน, การประเมินโครงการ, จิตเวช, psychiatry, community psychiatry

ปีที่เผยแพร่/Year: 2545

Address: โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่น กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 000281

ISSN/ISBN: 974-90572-3-6

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -