ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ประทุมมาศ ขะชาตย์

ชื่อเรื่อง/Title: ความสัมพันธ์ระหว่างสุขภาพจิตกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักศึกษาพยาบาล วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สุพรรณบุรี

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 7 ปี 2544 "ความสุขที่พอเพียง" วันที่ 5-7 กันยายน 2544 ณ. โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ กรุงเทพฯหน้า36

รายละเอียด / Details:

การศึกษาวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างภาวะสุขภาพจิตกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักศึกษาพยาบาล วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สุพรรณบุรี โดยเฉพาะนักศึกษาพยาบาลศาสตร์หลักสูตรพยาบาลศาสตร์บัณฑิต ประชากรที่ศึกษาเป็นนักศึกษาพยาบาลศาสตร์ ชั้นปีที่ 1 ปีที่ 2 ปีที่ 3 และปีที่ 4 ปีการศึกษา 2543 จำนวน 236 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถาม ประกอบด้วย 2 ส่วนคือ แบบสอบถามข้อมูลทั่วไป จำนวน 35 ข้อและแบบสอบถามภาวะสุขภาพจิต จำนวน 28 ข้อซึ่งนำมาจากแบบสอบถาม General Health Questionnaire ฉบับภาษาไทย (Thai GHQ-28) ซึ่งนายแพทย์ธนา นิลชัยโกวิทย์และคณะ แปลเป็นภาษาไทย ดำเนินการวิจัยระหว่างวันที่ 15-30 สิงหาคม 2543 วิเคราะห์ข้อมูลด้วยค่าสถิติ ความถี่ ร้อยละ และค่าเฉลี่ย ผลการวิจัยพบว่า 1. ปัจจัยด้านนักศึกษา พบว่า ชั้นของนักศึกษา เพศ ค่าใช้จ่ายต่อเดือน ความเพียงพอของค่าใช้จ่ายโรคประจำตัว ลักษณะการอ่านหนังสือ และความสัมพันธ์กับเพื่อนนักศึกษา มีความสัมพันธ์กับภาวะสุขภาพจิตอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ส่วนอายุ ภูมิลำเนาเดิม การเข้าเรียนในวิทยาลัย ทีพักอาศัยในวันหยุด การได้รับทุน และการใช้เครื่องดื่มประเภทชา/กาแฟ ไม่มีความสัมพันธ์กับภาวะสุขภาพจิตของนักศึกษา 2. ปัจจัยด้านครอบครัว พบว่า สุขภาพของบิดา-มารดา ความสัมพธ์กับบิดา-มารดา และความสัมพันธ์กับพี่น้อง มีผลต่อภาวะสุขภาพจิต อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 แต่จำนวนพี่น้องร่วมบิดา-มารดา ลำดับที่ของการเป็นบุตร รายได้ของบิดา-มารดาไม่มีความสัมพันธ์กับภาวะสุขภาพจิต 3. ปัจจัยด้านวิทยาลัย พบว่าปัญหาในการศึกษาภาคทฤษฎี มีความสัมพันธ์กับภาวะสุขภาพจิตอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ส่วนความพอใจต่อหอพักที่วิทยาลัยฯ จัดให้ ปัญหาในการใช้ห้องสมุด การร่วมกิจกรรมนอกหลักสูตร ปัญหาในการฝึกภาคปฏิบัติ ความสัมพันธ์กับอาจารย์สอนภาคปฏิบัติ/อาจารย์พี่เลี้ยงในแหล่งฝึก และความสัมพันธ์กับอาจารย์ประจำวิทยาลัยไม่มีความสัมพันธ์กับภาวะสุขภาพจิต 4. แนวโน้มว่าน่าจะมีความผิดปกติทางจิตเวชมากที่สุด คือ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 รองลงมาคือชั้นปีที่ 2 ชั้นปีที่ 3 และชั้นปีที่ 4 นักศึกษาอยู่ในชั้นปีที่สูงขึ้นมีแนวโน้มของภาวะสุขภาพจิตที่ลดลง ความสัมพันธ์ระหว่างภาวะสุขภาพจิต และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักศึกษาพยาบาลไม่มีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ผู้วิจัยมีความเห็นว่า การศึกษาวิชาชีพพยาบาล ควรมีการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าศึกษาให้ผู้เรียนเข้าใจถึงหลักสูตรวิธีการเรียนในระดับอุดมศึกษาและธรรมชาติการศึกษาของวิชาชีพ และจัดให้มีอาจารย์ที่ปรึกษาคอยดูแลช่วยเหลือ รวมทั้งเสริมสร้างสัมพันธ์ภาพที่ดีระหว่างนักศึกษารุ่นน้อง รุ่นพี่ บุคคลในครอบครัว และอาจารย์ให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

Keywords: สุขภาพจิต, พยาบาลวิชาชีพ, นักศึกษาพยาบาล, ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน, mental health, nurse

ปีที่เผยแพร่/Year: 2544

Address: กรมสุขภาพจิต,กระทรวงสาธารณสุข

Code: 000287

ISSN/ISBN: 974-296-076-3

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -