ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: วันเพ็ญ เชาว์เชิง, กรเกศ พรหมดี

ชื่อเรื่อง/Title: รายงานการวิจัย การศึกษาอัตราความชุกของภาวะสมองเสื่อม ภาวะซึมเศร้า ภาวะสุขภาพทั่วไปและปัจจัยที่มีผลต่อภาวะสมองเสื่อม ภาวะซึมเศร้าของผู้สูงอายุในจังหวัดนครราชสีมา

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัย พ.ศ 2544

รายละเอียด / Details:

การศึกษาครั้งนี้เป็นวิจัยแบบวิจัยเชิงพรรณนาตัดขวางช่วงเวลาสำรวจในชุมชน (Descriptive Cross Sectional Community Survey) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาหาความชุกของภาวะสมองเสื่อม ภาวะซึมเศร้า ภาวะสุขภาพทั่วไป และความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยที่เกี่ยวข้องบางประการกับภาวะสมองเสื่อม และภาวะซึมเศร้า ตลอดจนหาแนวทางในการพัฒนารูปแบบการให้บริการผู้สูงอายุในชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ การเลือกกลุ่มตัวอย่างจากผู้สูงอายุที่อาศัยในชุมชน จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 430 คน ได้มาจากการสุ่มแบบหลายขั้นตอน ( multistage simple random sampling technique ) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วยแบบสอบถามจำนวน 4 ชุด คือ 1) แบบสัมภาษณ์ข้อมูลส่วนบุคคล 2) แบบทดสอบสภาพสมองเบื้องต้นฉบับภาษาไทย (MMSE-T) ซึ่งพัฒนาโดยสถาบันเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ 3) แบบสำรวจภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ พัฒนาโดย รศ.พญ. อรพรรณ ทองแตง และคณะ 4) แบบสำรวจสุขภาพทั่วไป (Thai SF-36) ฉบับภาษาไทย ของรศ. นพ. รณชัย คงสกนธ์ และผศ. นพ. ชัชวาล ศิลปกิจ ระยะเวลาเก็บรวบรวมในช่วงเดือนมิถุนายน 2544 การวิเคราะห์โดยใช้โปรแกรม SPSS/FW version 9.05 สถิติที่ใช้ คือสถิติเชิงพรรณนา และหาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยบางประการ กับภาวะซึมเศร้า และภาวะสมองเสื่อม โดยการใช้สถิติเชิงอนุมาน ได้แก่ Chi-square Pearson correlation and Independent t-test ผลการวิจัย พบว่าผู้สูงอายุมีความชุกของภาวะสมองเสื่อม คิดเป็น 10.29 ความชุกของภาวะซึมเศร้า คิดเป็น 3.28 พบภาวะสมองเสื่อมร่วมกับภาวะซึมเศร้า คิดเป็น 2.29 และพบว่าปัจจัยที่สัมพันธ์กับภาวะสมองเสื่อมของผู้สูงอายุในจังหวัดนครราชสีมา คือ ปัจจัยด้านประชากรที่มีผลต่อภาวะสมองเสื่อมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.5 คือ เขตที่ตั้ง เพศ อายุ ความสามารถในการอ่าน การศึกษา การมีงานทำ ส่วนปัจจัยทางจิตสังคม คือ การร่วมกิจกรรม การให้คำปรึกษา ส่วนปัจจัยทางชีวภาพ คือการใช้สุรา การใช้บุหรี่ และปัจจัยที่สัมพันธ์กับภาวะซึมเศร้า คือ ปัจจัยทางด้านจิตสังคมที่มีผลต่อภาวะซึมเศร้าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.5 คือ ความสัมพันธ์ของบุคคลในครอบครัว ความสามารถในการอ่าน-เขียน มีโรคประจำตัว คือโรคตับ อายุ ภาวะสุขภาพทั่วไป ด้านความเจ็บปวดร่างกาย สำหรับข้อเสนอแนะจากผลการวิจัยที่พบ ภาวะสมองเสื่อมและภาวะซึมเศร้าค่อนข้างสูง จึงควรนำข้อมูลมาใช้ในการพัฒนาระบบบริการด้านภาวะสมองเสื่อมและภาวะซึมเศร้า ตลอดจนการจัดระบบส่งเสริมป้องกันในชุมชนต่อไป

Keywords: สมองเสื่อม, ชุมชน, ซึมเศร้า, ซึม, เศร้า, ภาวะซึมเศร้า, ผู้สูงอายุ, dementia, depression, depress elderly

ปีที่เผยแพร่/Year: 2544

Address: โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมา กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 00029

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -