ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: เบญจวรรณ สามสาลี

ชื่อเรื่อง/Title: ผลของโปรแกรมการปรับอัตมโนทัศน์ต่อความพร้อมในการออกสู่สังคมของเยาวชนที่กระทำผิดกฎหมาย

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 7 ปี 2544 "ความสุขที่พอเพียง" วันที่ 5-7 กันยายน 2544. หน้า 46

รายละเอียด / Details:

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวินิจฉัยกึ่งทดลองเพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการปรับอัตมโนทัศน์ต่อคะแนนความพร้อมในการออกสู่สังคมของเยาวชนที่กระทำผิดกฎหมาย กลุ่มตัวอย่างคือเยาวชนที่ต้องคดีเกี่ยวกับสารเสพติดและถูกศาลสั่งให้ไปรับการบำบัดและฟื้นฟูสมรรถภาพ ณ บ้านฟ้าใส อ. พุทธมณฑล จ. นครปฐม ซึ่งคัดเลือกแบบเจาะจงตามเกณฑ์ที่กำหนด จำนวน 12 คน กลุ่มตัวอย่างได้เข้าโปรแกรมปรับอัตมโนทัศน์ ซึ่งมีลักษณะเป็นกลุ่มปิดพบกัน 4 สัปดาห์ๆ ละ 3 ครั้งๆ ละ 1-3 ชั่วโมง ใช้แบบวัดความพร้อมในการออกสู่สังคมก่อนและหลังเข้าร่วมโปรแกรมเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ โปรแกรมการปรับอัตมโนทัศน์ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นโดยดัดแปลงมาจากการปรับอัตมโนทัศน์ของเทนเนสซีและแนวคิดในด้านความพร้อมในการออกสู่สังคมโดยไม่กระทำผิดซ้ำ และแบบวัดความพร้อมในการออกสู่สังคมที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น ซึ่งมี 7 ด้าน หาค่าความตรงเนื้อหาโดยผ่านผู้ทรงคุณวุฒิและหาค่าความเที่ยงโดยสูตรสัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาค ได้ค่า 0.91 การวิเคราะห์ข้อมูลคะแนนความพร้อมในการออกสู่สังคมวิเคราะห์โดยใช้ Dependent t-test ประเด็นข้อคิดเห็นจากการเข้าโปรแกรมวิเคราะห์เนื้อหา ผลการวิจัยพบว่า ค่าเฉลี่ยของคะแนนความพร้อม ในการออกสู่สังคมโดยรวมหลังเข้าร่วมโปรแกรมสูงกว่าก่อนเข้าโปรแกรม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P‹.001) เมื่อวิเคราะห์เป็นรายด้านพบว่า ด้านคุณธรรม-จริยธรรม ด้านการแสดงออกของพฤติกรรมที่เหมาะสม ด้านแหล่งสนับสนุนทางสังคม ด้านพัฒนาการการรู้จักตนเองสูงกว่าก่อนรับโปรแกรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เช่นกัน (P<.01) ส่วนด้านการวางแผนชีวิตและการแก้ปัญหาไม่มีความแตกต่างกัน -นอกจากนี้ผู้เข้ากลุ่มบำบัดยังได้กล่าวถึงประโยชน์ที่ได้จากการเข้าโปรแกรมดังนี้ ประโยชน์ที่ได้นำไปใช้ขณะอยู่ในสถานบำบัด ได้แก่ การปรับตัวเข้ากับผู้อื่น การพัฒนาตนเอง การควบคุมอารมณ์และพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม และสิ่งที่กลุ่มตัวอย่างคิดว่าจะนำไปใช้ประโยชน์หลังออกจากสถานบำบัด คือ การอยู่ร่วมสังคมกับผู้อื่น การเคารพกฎเกณฑ์สังคมและการแก้ปัญหา โดยการวิจัยครั้งนี้จะมีการติดตามผลหลังจากกลุ่มตัวอย่างพ้นกำหนดควบคุมโดยผู้วิจัยจะตามไปเยี่ยมบ้านทุกราย เพื่อติดตามแนวโน้มการกระทำผิดซ้ำ

Keywords: อัตมโนทัศน์, โปรแกรมการปรับอัตมโนทัศน์, โปรแกรม, เด็ก, เยาวชน, ยาเสพติด, สารเสพติด, คดี

ปีที่เผยแพร่/Year: 2544

Address: โรงพยาบาลนิติจิตเวช กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 000312

ISSN/ISBN: 974-296-076-3

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -