ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ชื่อเรื่อง/Title: การดูแลสภาพจิตใจของผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 7 ปี 2544 "ความสุขที่พอเพียง" วันที่ 5-7 กันยายน 2544. หน้า 47-48

รายละเอียด / Details:

-ปัจจุบัน แนวทาง (Guideline) การดูแลผู้ติดเชื้อ/ผู้ป่วยเอดส์ในประเทศไทย และ ประเทศในภูมิภาคต่างๆของโลกมุ่งเน้นที่การดูแลสุขภาพร่างกายเป็นส่วนใหญ่ ในทางปฏิบัติมีความจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับแนวทางการดูแลด้านจิตใจและอารมณ์ เพื่อให้การดูแลผู้ติดเชื้อเป็นองค์รวมมากยิ่งขึ้น จึงได้มีการพัฒนาแนวทางในการดูแลสภาพจิตใจของผู้ติดเชื้อ/ป่วยเอดส์ขึ้น ภายใต้โครงการศึกษาเพื่อหารูปแบบการดูแลผู้ติดเชื้อเอดส์ในระดับชุมชน จังหวัดลำปาง -การพัฒนาแนวทางการดูแลทางใจสำหรับผู้ติดเชื้อ/ผู้ป่วยเอดส์ เริ่มจากการศึกษา ข้อมูลจากเอกสารและศึกษาภาคสนามในจังหวัด เชียงใหม่ เชียงราย และลำพูนเพื่อทำความเข้าใจกับสภาวะจิตใจและอารมณ์ในระยะต่างๆของการติดเชื้อเอดส์ ต่อมาได้จัดสัมมนากับกลุ่มบุคคลต่างๆ ที่ทำงานกับผู้ติดเชื้อเอดส์ในภาคเหนือตอนบนจำนวน 35 คน และนำข้อมูลมาจัดทำ "คู่มือการดูแลสภาพจิตใจของผู้ติดเชื้อ/ผู้ป่วยเอดส์" สำหรับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ติดตามงานในระดับชุมชน รวมทั้งจัดทำแนวทางสำหรับอาสาสมัคร (อสม.) และผู้ดูแลในระดับชุมชนในรูปแบบคู่มือ"สบายใจ" เนื้อหาประกอบด้วยรูปแบบอาการด้านจิตใจของผู้ติดเชื้อเอดส์ ตั้งแต่เมื่อทราบว่าติดเชื้อ จนถึงวาระสุดท้าย แต่ละอาการทางใจประกอบด้วย 1) การแสดงออกของอาการ 2). สาเหตุ และ 3). การจัดการให้ความช่วยเหลือ แบ่งเป็นสิ่งที่ควรทำ และไม่ควรทำ นอกจากนี้ ยังได้รวมเรื่องการดูแลทางใจสำหรับสมาชิกในครอบครัวหลังจากที่ผู้ติดเชื้อเสียชีวิตไปแล้ว เพื่อให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข อสม. และผู้ดูแลผู้ติดเชื้อในครอบครัวสามารถใช้แนวทางการดูแลทางใจได้ จึงได้จัดการอบรมเพื่อให้กลุ่มเป้าหมายเข้าใจลักษณะอาการทางใจในระยะต่างๆ ของการติดเชื้อเอดส์ และกระบวนการคลี่คลายอารมณ์ต่างๆ มีการใช้วิดีทัศน์เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมเข้าใจเนื้อหาได้ดียิ่งขึ้น หลังการอบรมมีการศึกษาโดยการติดตาม อสม. และผู้ดูแลในครอบครัวเพื่อทราบถึงการนำแนวทางการดูแลทางใจไปใช้ในทางปฏิบัติ ส่วนในกลุ่มเจ้าหน้าที่สาธารณสุขตำบล ไม่ได้มีการติคตามเนื่องจากบทบาทต่อการ ดูแลผู้ติดเชื้อเอดส์นั้นยังไม่ชัดเจน -ผลการติดตามในชุมชนพบว่า อสม. ได้ออกเยี่ยมบ้านผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการมากขึ้น เพราะเชื่อว่าการพูดคุย รับฟังปัญหาก็สามารถช่วยเหลือให้ผู้ติดเชื้อมีความรู้สึกที่ดีขึ้นได้ สำหรับผู้ดูแลผู้ติดเชื้อที่สามารถอ่านออกเขียนได้ ได้ใช้คู่มือ "สุขใจ" เป็นแนวทางในการสำรวจภาวะทางอารมณ์ของผู้ติดเชื้อ และใช้จัดการกับปัญหาอย่างไรก็ตาม ประโยชน์ที่ได้รับจากการอบรมนั้น ทำให้เกิดความเข้าใจต่อแนวทางการดูแลทางใจมากกว่าการศึกษาจากคู่มือ ดังนั้นจึงอาจต้องมีการปรับปรุงแนวทางการนำเสนอ เพื่อให้สามารถนำไปใช้ในทางปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

Keywords: ผู้ป่วยเอดส์, เอดส์, สุขภาพจิต, ผู้ติดเชื้อเอดส์, aids

ปีที่เผยแพร่/Year: 2544

Address: ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

Code: 000314

ISSN/ISBN: 974-296-076-3

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -