ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ประเวช ตันติพิวัฒนสกุล

ชื่อเรื่อง/Title: ภาวะสุขภาพจิตของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในบรรยากาศการสอบเข้ามหาวิทยาลัย

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 7 ปี 2544 "ความสุขที่พอเพียง" วันที่ 5-7 กันยายน 2544. หน้า 52

รายละเอียด / Details:

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา (Descriptive Study) มีวัตถุปรสงค์เพื่อศึกษาภาวะสุขภาพจิตของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในบรรยายกาศการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ระหว่างกุมภาพันธ์ - เมษายน 2544 กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนมัธยมของเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในโรงเรียนนำร่องระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างกรมสามัญศึกษากับกรมสุขภาพจิต และโรงเรียนที่ไม่ได้อยู่ในโครงการนำร่องๆ จำนวน 910 ราย ได้จากการสุ่มด้วยวิธี Purposive Samping เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลคือ แบบสำรวจข้อมูล ทั่วไปกับแบบประเมินและวิเคราะห์ความเครียดด้วยตนเอง นำข้อมูลมาวิเคราะห์ทางสถิติด้วยร้อยละ และ Chi-square Test โดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป SPSS/PC+ ผลการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่ามีนักเรียนร้อยละ 26 มีภาวะเครียด ร้อยละ 5 มีความคิดฆ่าตัวตาย และร้อยละ 73 มีความรู้สึกหดหู่หรือเศร้าใจเป็นบางครั้งบางคราว ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ความเครียดมีความสัมพันธ์กับเพศและความรู้สึกหดหู่หรือเศร้าใจอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P=0.00) ความคิดฆ่าตัวตายมีความสัมพันธ์กับเพศ บรรยากาศในบ้าน ความรู้สึกหดหู่หรือเศร้าใจ การมองทางออกของปัญหา และจำนวนปัญหาที่นักเรียนเผชิญอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P=0.00) จากการเปรียบเทียบผลของการมีระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนในโรงเรียนพบว่า นักเรียนระหว่างโรงเรียนนำร่องฯ และโรงเรียนไม่นำร่องฯ ในโรงเรียนที่มีระบบดูแลช่วยเหลือมีคะแนนความเครียด และอารมณ์เศร้าน้อยกว่านักเรียนในโรงเรียนที่ไม่มีระบบดูแลช่วยเหลืออย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P=0.00) ทั้งที่นักเรียนในโรงเรียนนำร่องฯ มีพื้นฐานทางบ้านด้อยกว่า กล่าวคือมีบรรยากาศในบ้านที่อบอุ่นในสัดส่วนที่น้อยกว่า มีบรรยากาศที่ต่างคนต่างอยู่ และทะเลาะเบาะแว้งกันบ่อยๆ หรือถึงขั้นตบตีกันมากกว่านักเรียนที่ไม่อยู่ในโรงเรียนนำร่องฯ การวิจัยครั้งนี้ทำให้ทราบถึงข้อมูลเบื้องต้นว่า เพศ บรรยากาศในบ้านของนักเรียน การมองทางออกของปัญหาและจำนวนปัญหาที่นักเรียนเผชิญเกี่ยวข้องกับความเครียด ความรู้สึกหดหู่หรือเศร้าใจและความคิดฆ่าตัวตายของนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 6 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ผลการศึกษาดังกล่าวจะมีประโยชน์ในการช่วยเหลือและค้นหานักเรียนที่อาจมีปัญหาสุขภาพจิต ระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่พัฒนาขึ้น น่าจะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยนักเรียน แก้ปัญหาโดยเฉพาะในครอบครัวที่ขาดความพร้อม อนึ่งระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนดังกล่าว กรมสุขภาพจิตและกรมสามัญศึกษากำลังดำเนินการในพื้นที่ทั่วประเทศอยู่ในขณะนี้

Keywords: สุขภาพจิต, เด็ก, นักเรียน, การสอบเข้ามหาวิทยาลัย, การสอบ, mental health, exam, students

ปีที่เผยแพร่/Year: 2544

Address: กรมสุขภาพจิต,กระทรวงสาธารณสุข

Code: 000317

ISSN/ISBN: 974-296-076-3

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -