ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: อนันต์ อุ่นแก้ว

ชื่อเรื่อง/Title: การพัฒนาสุขภาพจิตเด็กด้อยโอกาส

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 7 ปี 2544 "ความสุขที่พอเพียง" วันที่ 5-7 กันยายน 2544. หน้า 57

รายละเอียด / Details:

สภาพการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน ส่งผลให้เกิดปัญหาทางสังคมต่างๆ มากมายโดยเฉพาะปัญหาเด็กและเยาวชน พบว่าเด็กจำนวนไม่น้อยมีปัญหาด้านครอบครัวและการเลี้ยงดู ทำให้ถูกทอดทิ้ง ขาดโอกาสที่จะได้รับการพัฒนาทั้งทางด้านสติปัญญา อารมณ์ และจิตใจอย่างเหมาะสม เป็นเหตุให้เกิดปัญหาการปรับตัวและการดำเนินชีวิตอย่างปกติสุข เด็กจำนวนหนึ่งมีปัญหาทางด้านพฤติกรรม มีความเครียด ความขัดแย้ง และหันไปใช้ยาเสพติดโดยรู้เท่าไม่ถึงการ และทำให้เกิดภาวะการติดยา การมั่วสุมกระทำความผิดตามมาในขณะนี้มีเด็กที่ถูกควบคุมดูแลในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กจำนวนมากทั่วประเทศ เด็กบางคนอยู่ในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กเป็นเวลาหลายปี ซึ่งทำให้ขาดโอกาสที่จะได้รับการพัฒนาด้านต่างๆ เช่น เด็กปกติทั่วไป ขาดโอกาสที่จะได้รับการศึกษาในระบบ เสี่ยงต่อการติดยาเสพติด ติดเชื้อเอดส์ และกระทำความผิดซ้ำหลายครั้ง ดังนั้นการที่จะช่วยป้องกันปัญหาดังกล่าวจำเป็นต้องมีแนวทาง การดูแลและพัฒนาเด็กที่ถูกวิธี เพื่อลดภาวะของปัญหา รวมทั้งมีแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาจิตใจ อารมณ์ และความคิดของเด็กได้อย่างเหมาะสม จากการศึกษาปัญหาสุขภาพจิตและปัญหาการดูแลเด็กด้อยโอกาสในหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในประเทศไทย ปรากฎผลว่าเด็กด้อยโอกาสที่รับการดูแลในองค์กรต่างๆ ทั้งในส่วนของกระทรวงยุติธรรม อันได้แก่ สถานพินิจและคุ้มครองเด็กแต่ละแห่งทั่วประเทศ ในส่วนของกรมประชาสงเคราะห์ และในองค์กรภาคเอกชนคือมูลนิธิต่างๆ นั้นได้ผลสรุปว่า เด็กมีปัญหาทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม พฤติกรรม และขาดทักษะจำเป็นในการดำเนินชีวิต ผู้ดูแลเด็กขาดแนวทางที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาเด็กการดูแลเด็กมีทิศทางและเป้าหมายไม่ชัดเจน ในการพัฒนาสุขภาพจิตเด็กด้อยโอกาสที่อยู่ในสถานดูแลต่างๆ นั้น เพื่อให้ผู้ดูแลเด็กมีแนวทางและเป้าหมายตลอดจนวิธีการดูแลเด็กที่เหมาะสม และสอดคล้องกับธรรมชาติพัฒนาการในวัยเด็ก รวมทั้งเพื่อให้การเสริมสร้างสุขภาพจิตของเด็กสัมฤทธิ์ผลและมีประสิทธิภาพในแนวทางการดูแลนั้น ได้พัฒนาคู่มือการจัดกิจกรรมเด็กด้อยโอกาส สำหรับผู้ดูแลเด็กนำไปใช้ประกอบการจัดกิจกรรมในขณะที่เด็กอยู่ในสถานดูแลนั้นๆ โดยกิจกรรมต่างๆ จัดแบ่งโครงสร้างออกเป็น 4 หน่วย ประกอบด้วย การสร้างความไว้วางใจและการอยู่ร่วมกันในสังคม การพัฒนาคุณค่าในตนเอง การแก้ไขพฤติกรรมที่เป็นปัญหา และการแก้ไขปัญหาการใช้สารเสพติด กิจกรรมต่างๆ มีแนวทางการดำเนินกิจกรรมในลักษณะให้เด็กเกิดกระบวนการการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม และเด็กเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ ทั้งนี้จะสอดแทรกทั้งสาระและความสนุกสนานเพื่อจูงใจให้เด็กเกิดความสนใจเพลิดเพลินในการเรียนรู้สิ่งสำคัญต่างๆ อย่างเป็นขั้นตอน โดยมุ่งให้เด็กได้รับการพัฒนาไปในทิศทางที่เหมาะสมและสามารถดำเนินชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุขต่อไป

Keywords: สุขภาพจิต, เด็ก, สุขภาพจิตเด็ก, เด็กด้อยโอกาส, ปัญหาสุขภาพจิต

ปีที่เผยแพร่/Year: 2544

Address: กรมสุขภาพจิต,กระทรวงสาธารณสุข

Code: 000322

ISSN/ISBN: 974-296-076-3

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -