ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: วรรณภา สาโรจน์

ชื่อเรื่อง/Title: โครงการปลดโซ่ตรวนผู้ป่วยทางจิตที่ล่ามขัง จังหวัดกาฬสินธุ์

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 7 ปี 2544 "ความสุขที่พอเพียง" วันที่ 5-7 กันยายน 2544. หน้า 62

รายละเอียด / Details:

บทนำ องค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้ปี 2544 เป็นปีแห่งการดูแลสุขภาพจิตโดยมีคำขวัญว่า " Stop Exclusion-Dare to Care" หรือ ผู้ป่วยทางจิต อย่าคิดผลักไส ควรมีน้ำใจ ห่วงใยเยียวยา เพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญของผู้ที่มีปัญหาทางจิต กรมสุขภาพจิตจึงมีนโยบายให้โรงพยาบาลจิตเวชทุกแห่ง จัดให้มีโครงการปลดโซ่ตรวนผู้ป่วยทางจิตที่ถูกล่ามขังขึ้น สำนักผู้ช่วยผู้อำนวยการจังหวัดกาฬสินธุ์ตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าวจึงดำเนินโครงการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปลดโซ่ตรวนผู้ป่วยล่ามขังในเขตจังหวัดกาฬสินธุ์ - วิธีดำเนินงาน แบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน คือ 1. ขั้นเตรียมการ ดำเนินการประชุมทีมสุขภาพจิตจังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อวางแผนดำเนินงาน สำรวจผู้ป่วยทางจิตที่ถูกล่ามขังในจังหวัดกาฬสินธุ์ทั้งหมดวางแผนติดตามเยี่ยมและประสานงานกับเครือข่ายสุขภาพจิตจังหวัดกาฬสินธุ์ 2. ขั้นดำเนินการ ทีมสุขภาพจิตจังหวัดกาฬสินธุ์ โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่น พร้อมด้วยเครือข่ายผู้ปฏิบัติงานสุขภาพจิตจังหวัดกาฬสินธุ์ออกติดตามเยี่ยมผู้ป่วยทางจิตที่ถูกล่ามขัง เพื่อประเมินความรู้ความเข้าใจของญาติในการดูแลผู้ป่วยจิตเวชและสาเหตุของการล่ามขัง ให้ความรู้/คำแนะนำญาติในการดูแลผู้ป่วยทางจิตพิจารณาแนวทางการช่วยเหลือผู้ป่วยร่วมกับญาติและเจ้าหน้าที่เครือข่ายสุขภาพจิตในพื้นที่ ประสานกับเจ้าหน้าที่เครือข่ายในการให้ความช่วยเหลือญาติหากมีปัญหา เช่น การทำบัตรสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลและการประสานงานกับแพทย์ เพื่ออำนวยความสะดวกในการขอให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่ รพ. จิตเวชขอนแก่นเป็นต้น 3. ขั้นประเมินผล ประเมินจากการลดลงของอัตราล่ามขังผู้ป่วยทางจิต - ผลการดำเนินงาน จากการสำรวจผู้ป่วยทางจิตที่ถูกล่ามขังในจังหวัดกาฬสินธุ์ทั้งหมด 29 ราย เป็นชาย 19 ราย หญิง 10 ราย กระจายอยู่ใน 9 อำเภอ และ 4 กิ่งอำเภอ อำเภอที่มีการล่ามขังมากที่สุดคือ กุฉินารายณ์ ล่ามขัง 5 ราย ทีมสุขภาพจิตได้ออกเยี่ยมผู้ป่วยทุกราย พบว่าเหตุ ที่ทำให้ผู้ป่วยถูกล่ามขังส่วนใหญ่เนื่องจาก อาละวาด ทำร้ายร่างกาย ทำลายสิ่งของ ไม่ยอมรับประทานยาทำให้มีอาการกำเริบ อายุส่วนใหญ่อยู่ในช่วง 30-40 ปี ระยะเวลาที่ถูกล่ามขังมากที่สุด 30 ปี รองลงมาคือ 20 ปี น้อยที่สุด 2 เดือน ผลการดำเนินงานสามารถช่วยให้ผู้ป่วยทางจิตที่ถูกล่ามขังได้รับการปลดโซ่ตรวน จำนวน 10 ราย คิดเป็นร้อยละ 34.5 โดย 9 รายกำลังรักษาที่โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่น เป็นชาย 7 ราย หญิง 2 ราย ส่วนอีก 1 รายอยู่ร่วมกับชุมชนและครอบครัวได้

Keywords: โซ่ตรวน, ล่ามขัง, ผู้ป่วยทางจิต, ผู้ป่วยจิตเวช, จิตเวช, ปลดโซ่ตรวน, psychiatry, psychosis

ปีที่เผยแพร่/Year: 2544

Address: โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่น กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 000323

ISSN/ISBN: 974-296-076-3

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -