ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: อัญชลี ศิลาเกษ

ชื่อเรื่อง/Title: การวิจัยประเมินผลโครงการพัฒนารูปแบบการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อป้องกันสารเสพติดในจังหวัดอำนาจเจริญ

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัย พ.ศ 2545

รายละเอียด / Details:

กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขได้พัฒนาวิธีการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการป้องกันปัญหาสารเสพติด ในปี 2544 โดยใช้แนวคิด ร่วมใจ ร่วมคิด ร่วมทำ และแนวคิดการใช้ชุมชนเป็นฐาน ซึ่งมีผลทำให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง โดยดำเนินการในเขตการสาธารณสุขทั้ง 12 เขต เขตละ 1 จังหวัด สำหรับเขต 7 ดำเนินการในจังหวัดอำนาจเจริญ โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอำนาจเจริญ ด้วยการสนับสนุนทางวิชาการจากโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ และศูนย์สุขภาพจิตเข ต 7 ซึ่งโครงการดังกล่าวดำเนินการใน 4 อำเภอ อำเภอละ 1 ชุมชน ได้แก่ อำเภอชานุมาน อำเภอปทุมราชวงศา อำเภอพนา และอำเภอลืออำนาจ จึงเห็นสมควรให้มีการประเมินผล ในรูปแบบของการวิจัยประเมินผลโครงการ วัตถุประสงค์ของการวิจัยคือ เพื่อประเมินความสอดคล้องระหว่างความจำเป็นในการดำเนินโครงการกับวัตถุประสงค์ของโครงการ เพื่อประเมินผลการอบรมเทคนิคการจัดกิจกรรม การมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อป้องกันสารเสพติด และเพื่อประเมินผลการมีส่วนร่วมของผู้นำชุมชนและประชาชนในการป้องกันสารเสพติดในชุมชน โดยมีการระบุตัวชี้วัดและเกณฑ์การประเมิน ประชากรที่ศึกษา ได้แก่ 1) บุคลากรสาธารณสุขที่ผ่านการอบรมเทคนิคการจัดกิจกรรมการมีส่วนร่วมของชุมชนที่เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อป้องกันสารเสพติด จำนวน 121 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ แบบทดสอบความรู้ แบบประเมินการอบรมเทคนิคการจัดกิจกรรมการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อป้องกันสารเสพติด แบบประเมินคู่มือการจัดกิจกรรม แบบสอบถามความพึงพอใจ และแนวทางการสนับสนุนกลุ่ม เก็บข้อมูล และรวบรวมรายงานเอกสาร โดยผู้วิจัยวิเคราะห์ข้อมูลคุณภาพโดยการวิเคราะห์เนื้อหา และวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณโดยใช้ ค่าสถิติ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และทดสอบค่า ที (t-test paired) ผลการศึกษาพบว่าโครงการและวัตถุประสงค์ของโครงการมีความสอดคล้องกับสภาพปัญหาในชุมชน มีความต้องการในการแก้ปัญหาด้วยวิธีการดำเนินโครงการดังกล่าว การประเมินผลการอบรมเทคนิคการจัดกิจกรรมการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อป้องกันปัญหาสารเสพติด สำหรับบุคลากรสาธารณสุข ได้รับการประเมินจากผู้เข้าอบรมว่าส่วนใหญ่อยู่ในระดับเหมาะสมมากถึงมากที่สุด ส่วนคู่มือการจัดกิจกรรมการมีส่วนร่วมของชฃุมชนเพื่อป้องกันสารเสพติดในชุมชน ได้ผลการประเมินว่ามีความเหมาะสมมากถึงมากที่สุด การประเมินความพึงพอใจของผู้นำชุมชนที่เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อป้องกันสารเสพติด พบว่า ส่วนใหญ่มีความพึงพอใจถึงพอใจมาก และจากการประชุมเชิงปฏิบัติการพบว่าผู้เข้าร่วมประชุมของทั้ง 4 ชุมชน ได้ร่วมคิดและกำหนดโครงการเพื่อการป้องกันสารเสพติดในชุมชนของแต่ละชุมชนจำนวน 2 ถึง 4 โครงการ เมื่อกำหนดโครงการแล้ว มีการดำเนินตามโครงการค่อนข้างสม่ำเสมอ มีการเผยแพร่ให้คนอื่นทราบเป็นส่วนใหญ่ และเมื่อได้ดำเนินการแล้ว ส่วนใหญ่มีความพึงพอใจที่ได้ร่วมป้องกันสารเสพติดในชุมชนของตน ผลจากการดำเนินโครงการเพื่อป้องกันสารเสพติดในชุมชนทำให้ประชาชนในชุมชนนั้นส่วนใหญ่เห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วมในการป้องกันสารเสพติดและลดการมั่วสุมของกลุ่มเยาวชนในชุมชนที่ใช้สารเสพติด ข้อเสนอแนะ ควรมีการสร้างภาคีและครือข่ายในการดำเนินงานกับภาครัฐ องค์กรภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อสร้างความเข้าใจและให้ความร่วมมือในการทำงานอย่างครอบคลุมซึ่งอาจนำไปสู่การสร้างแนวร่วมจากชุมชนอื่น ๆ ที่ใกล้เคียง และสนับสนุนให้เกิดการแก้ปัญหาสารเสพติดด้วยมาตรการอื่น ๆ หลังจากพบว่าชุมชนประสบผลสำเร็จจากการมาตรการป้องกันด้วยการมีส่วนร่วมของชุมชน

Keywords: สารเสพติด, ชุมชน, ยาเสพติด, drug abuse, community,

ปีที่เผยแพร่/Year: 2545

Address: โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ อุบลราชธานี กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 00041

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -