ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: อรัญญา ตุ้ยคำภีร์

ชื่อเรื่อง/Title: ความหมายและความพึงพอใจในชีวิตของเยาวชนไทยที่ติดสารเสพติด

แหล่งที่มา/Source: วารสารสุขภาพจิตแห่งประเทศไทย ปีที่ 10 ฉบับที่ 3, กันยายน 2545, หน้า 151-160

รายละเอียด / Details:

การติดสารเสพติดของเยาวชนเป็นปรากฎการณ์หนึ่งที่แสดงถึงการปรับตัวที่ด้อยประสิทธิภาพ หรือเป็นความพยายามของเยาวชนที่จะจัดการกับความรู้สึกคับข้องใจตลอดจนความทุกข์ในชีวิตเพื่อให้ชีวิตสามารถดำเนินต่อไปได้ แม้ว่าจะมีงานวิจัยมากมายศึกษาถึงปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการติดสารเสพติดหรือสาเหตุและผลของการติดสารเสพติด แต่งานวิจัยเหล่านั้นยังไม่ได้ศึกษาถึงสุขภาวะของผู้ติดสารเสพติดที่เป็นเรื่องของความสุขและความพึงพอใจในชีวิต ตลอดจนเป็นผู้ที่สามารถใช้ชีวิตอย่างมีความหมายได้ การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อทดสอบแบบจำลองเชิงสาเหตุของความหมายและความพึงพอใจในชีวิตของเยาวชนไทยผู้ติดสารเสพติด ตัวแปรในแบบจำลองประกอบด้วย 3 ตัวแปรหลักคือ ภูมิหลัง (อายุ ระยะเวลาการติดสารเสพติด และจำนวนครั้งของการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล) ความหมายในชีวิต ( การแสวงหาเป้าหมายและความหมายในชีวิต และความหมายของชีวิตผ่านความทุกข์) และความพึงพอใจในชีวิต (ความมุ่งหวังในชีวิตและความสุข) กลุ่มตัวอย่างเป็นเยาวชนไทยผู้ติดสารเสพติดแอมเฟตามีน เพศชายล้วน ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลธัญญารักษ์ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ถึง 1 พฤษภาคม 2544 จำนวน 370 คน กลุ่มตัวอย่างทั้งหมดตอบแบบสอบถามด้วยตนเอง โดยมีอัตราการตอบแบบวัดที่สมบูรณ์ร้อยละ 93.8 การวิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติเชิงพรรณนาและเชิงอนุมาน ด้วยโปรแกรม LISREL for window version 8.3 ผลการวิจัยพบว่าแบบจำลองเชิงสาเหตุของความหมายและความพึงพอใจในชีวิตของเยาวชนไทย ผู้ติดสารเสพติดมีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์ (X=0.93,df=4,p=0.92;GFI=0.99; AGFI=0.99, RMK=0.41) ตัวแปรในแบบจำลองอธิบายความแปรปรวนของความหมายในชีวิตได้ร้อยละ 30 และ อธิบายความแปรปรวนของความพึงพอใจในชีวิตได้ร้อยละ 7 ทั้งนี้ความหมายในชีวิตได้รับอิทธิพลทางตรงจากภูมิหลังและความพึงพอใจในชีวิต ได้รับอิทธิพลทางตรงจากความหมายในชีวิตอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ส่วนความพึงพอใจในชีวิตได้รับอิทธิพลทางอ้อมจากภูมิหลังผ่านความหมายในชีวิตแต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ผลการศึกษาดังกล่าวข้างต้นแสดงถึงแบบจำลองเชิงสาเหตุของความหมายและความพึงพอใจในชีวิตนี้ยังไม่ใช่แบบจำลองที่ดีที่สุด ดังนั้น การพัฒนาแบบจำลองดังกล่าวควรได้มีการนำตัวแปรอื่นๆ ที่อาจส่งผลต่อความหมายและความพึงพอใจในชีวิตเข้ามาเพิ่มในแบบจำลองอันจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาความหมายและความพึงพอใจ ในชีวิตที่สูงขึ้นได้

Keywords: ความหมายและความพึงพอใจในชีวิต,เยาวชนที่ติดสารเสพติด

ปีที่เผยแพร่/Year: 2545

Address: กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 0000289

ISSN/ISBN: 2859-497-X

Country of publication: Thailand.

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อ: วารสารวิชาการ

Download: Download รายงานวิจัย คลิกได้ที่นี่ค่ะ PDF Format 2.20MB