ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: คนึงนิจ พงศ์ถาวรกมล และคณะ

ชื่อเรื่อง/Title: ความเป็นห่วง ความวิตกกังวล และความต้องการข้อมูลในผู้ป่วยที่ได้รับการตรวจหลอดเลือดทางรังสี

แหล่งที่มา/Source: วารสารสภาการพยาบาล ปีที่ 16, ฉบับที่ 2, เมษายน-มิถุนายน 2544 หน้า 84-97

รายละเอียด / Details:

วิธีการตรวจ/รักษาทางการแพทย์หลายอย่างก่อให้เกิดความเครียดต่อผู้ป่วยรวมทั้งการตรวจหลอดเลือดทางรังสี การวิจัยนี้มีจุดประสงค์เพื่อสำรวจความเป็นห่วง (emotional concerns) ความวิตกกังวล (anxiety) และความต้องการข้อมูล (informational needs) ในผู้ป่วยที่ได้รับการตรวจหลอดเลือดทางรังสี และเพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรทั้งสาม โดยใช้ทฤษฎีการปรับตัวต่อความเครียดจากความเจ็บป่วย และการตรวจ/รักษาของ Johnson's Self-regulation theory (1997) เป็นกรอบแนวในการศึกษา กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยที่ได้รับตรวจหลอดเลือดทางรังสี เป็นครั้งแรกที่หน่วยรังสีวินิจฉัย โรงพยาบาลศิริราช จำนวน 60 คน ผู้วิจัยทำการสัมภาษณ์ผู้ป่วยล่วงหน้าหนึ่งวันก่อนวันตรวจโดยใช้แบบวัดความวิตกกังวลขณะเผชิญของ สไปเบอร์เจอร์ (Spielberger, 1983) และแบบสัมภาษณ์ชนิดมีโครงสร้าง (Structured Interview) เกี่ยวกับความเป็นห่วงความวิตกกังวลและความต้องการข้อมูลซึ่งผู้วิจัยสร้างขึ้นโดยใช้กรอบแนวคิดของจอห์นสันเป็นแนวทาง ผลการศึกษาพบว่า ระดับความวิตกกังวลของผู้ป่วยอยู่ในระดับปานกลางค่อนไปทางต่ำประเด็นความเป็นห่วงต่อการตรวจหลอดเลือดทางรังสีที่มีคะแนนสูงสุด คือ ความวิตกกังวลว่าการเจ็บป่วยครั้งนี้คงรุนแรงจึงต้องมีการตรวจหลอดเลือดทางรังสี รองลงมาคือ รู้สึกตื่นเต้น กลัว เพราะไม่เข้าใจวิธีการตรวจและความเป็นห่วงว่าการตรวจอาจมีผลรบกวนต่อ สุขภาพ และ/หรือการทำงานในอนาคตตัวแปรทั้งสามต้องการข้อมูลในระดับค่อนข้างสูงและเหตุผลที่ต้องการข้อมูลของผู้ป่วยส่วนใหญ่เพื่อลดความวิตกกังวลของตนเอง จากผลการวิเคระห์หาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรเหล่านี้พบว่า ตัวแปรทั้งสาม ได้แก่ ความเป็นห่วง ความวิตกกังวล และความต้องการข้อมูล มีความสัมพันธ์ทางบวกต่อกันและกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เป็นการสนับสนุนว่าข้อมูล/ความรู้ มีบทบาทลดความเป็นห่วง และความวิตกกังวลในผู้ป่วยที่ได้รับการตรวจหลอดเลือดทางรังสีได้ และการให้ข้อมูล/ความรู้อย่างเพียงพอเหมาะสมเพื่อเตรียมผู้ป่วยก่อนได้รับการตรวจหลอดเลือดทางรังสีเป็นสิ่งจำเป็น ข้อมูลจากการศึกษาวิจัยครั้งนี้สามารถไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนการจัดโปรแกรมการเตรียมข้อมูล/ความรู้ (Informational intervention) โดยใช้กรอบแนวคิดของจอห์นสัน (1997) ได้ เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยให้สามารถปรับตัวต่อการตรวจหลอดเลือดทางรังสีอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

Keywords: ความเป็นห่วง ความวิตกกังวล ความต้องการข้อมูล การตรวจหลอดเลือดทางรังสี วิตกกังวล anxiety

ปีที่เผยแพร่/Year: 2544

Address: สภาการพยาบาล

Code: 00074

ISSN/ISBN: 1513-1262

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อ: วารสารวิชาการ

Download: -