ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: โปรยทิพย์ กสิพันธุ์

ชื่อเรื่อง/Title: รายงานการวิจัยเรื่อง ผลของการใช้กลุ่มช่วยเหลือตนเองต่อความสามารถในการดูแลตนเองของผู้ป่วยจิตเวช

แหล่งที่มา/Source: วารสารการพยาบาลจิตเวชและสุขภาพจิต ปีที่ 13 ฉบับที่ 2 กรกฎาคม-ธันวาคม 2542 หน้า 55-60

รายละเอียด / Details:

ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา สภาพสังคมปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้มนุษย์ต้องมีการปรับตัวตลอดเวลา เพื่อให้ทันต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว อย่างไรก็ตามมีบุคคลจำนวนมากที่ไม่สามารถปรับตัวได้ ทำให้เกิดความเครียดวิตกกังวล ปัญหาทางสุขภาพจิตสูงขึ้น โดยเฉพาะความเครียด ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่ปัญหาทางสุขภาพจิตที่รุนแรง คือ โรคจิตการฆ่าตัวตาย รวมทั้งเป็นมูลเหตุสำคัญที่ ทำให้ประชาชนใช้วิธีการที่ไม่ถูกต้องในการแก้ปัญหาของตนเอง ซึ่งเป็นสิ่งบ่งชี้ให้เห็นสภาวะสุขภาพของคนไทยกำลังเสื่อมโทรมอย่างรวดเร็ว ผู้ป่วยจิตเวชคือ บุคคลที่ขาดความสามารถในการปรับตัว เป็นผลให้เกิดความแปรปรวนทั้งด้านความคิด อารมณ์ และพฤติกรรม (Weir and Wei, 1996) อยู่ในสภาพที่ป่วยเรื้อรัง มักมีอาการเป็นๆ หายๆ ซึ่งมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัว ต้องใช้ระยะเวลานานในการรักษาพยาบาล ปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยจิตเวชที่มารับบริการบำบัดรักษาจากโรงพยาบาลคือ ไม่สามารถอยู่ในชุมชนและไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้เท่าที่ควรโดยเฉพาะในเรื่องความคิดเห็น การตัดสินใจ การทำงาน กิจวัตรประจำวัน เป็นต้น ญาติต้องคอยให้ความช่วยเหลือซึ่งก่อให้เกิดความเบื่อหน่ายไม่ยอมรับ ผู้ป่วยเกิดความรู้สึกท้อแท้ สิ้นหวังไร้ค่าเมื่อออกสู่สังคมภายนอก เพื่อนบ้าน เพื่อนร่วมงานไม่ยอมรับในตัวผู้ป่วย ไม่เชื่อว่าผู้ป่วยจะทำประโยชน์ได้ แสดงท่าทีออกมาให้ผู้ป่วยเห็นการที่ถูกรังเกียจและถูกแยกจากสังคม จะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่มีคุณค่าในตัวเอง รู้สึกสะเทือนใจมากขึ้น กลับป่วยเป็นโรคจิตซ้ำอีก ปัญหาดังกล่าวน่าจะมีสาเหตุจากผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาลเมื่อยังไม่พร้อม คือ เมื่อผู้ป่วยมีอาการทางจิตลดลงแล้ว กลับบ้านทันทีโดยไม่มีโอกาสได้เตรียมพร้อมที่จะดูแลตนเองไม่ได้พร้อมที่จะรับผิดชอบชีวิตตนเอง กลุ่มช่วยเหลือตนเองเป็นกลุ่มหนึ่งของแรงสนับสนุนทางสังคมซึ่งเป็นตัวแปรจิตสังคมที่มีความสัมพันธ์กับสุขภาพทั้งในภาวะปกติและภาวะเจ็บป่วย มีผลโดยตรงต่อการส่งเสริมการดูแลตนเองทั้งทางด้านการป้องกันโรค การส่งเสริม สุขภาพ การรักษา และการฟื้นฟูสภาพ โดยกลุ่มจะช่วยเหลือสมาชิกเพิ่มความสามารถในการดูแลตนเอง และสามารถเรียนรู้วิธีดูแลตนเองเพื่อป้องกัน ภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ที่เกิดขึ้น (ดรุณี ชุณหะวัต, 2539) การนำกระบวนการกลุ่มช่วยเหลือตนเอง มาใช้กับผู้ป่วยจิตเวชนี้ ทำให้ผู้ป่วยเกิดการพัฒนา โดยการจัดกิจกรรมกลุ่มอย่างต่อเนื่อง ให้ผู้ป่วยได้มีการพบปะ ปรึกษาหารือแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกันเกี่ยวกับการดำเนินชีวิต กลุ่มจะช่วยเหลือสมาชิกกลุ่มด้วยการเรียนรู้วิธีดูแลตนเองและนำประโยชน์จากกลุ่มมาพัฒนาความสามารถในการดูแลตนเองได้อย่างเหมาะสม โดยมีพยาบาลจิตเวชเป็นผู้เสริมสร้างความสัมพันธ์ ให้กำลังใจ สนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการดำเนินการกลุ่ม จากการศึกษาคุณค่าของกลุ่มช่วยเหลือตนเองดังกล่าว ผู้วิจัยมีความเห็นว่าการนำกลุ่มช่วยเหลือตนเองมาใช้เพื่อพัฒนาการความสามารถในการดูแลตนเองของผู้ป่วยจิตเวชได้ดังนั้น ผู้วิจัยจึงมีความสนใจ ที่จะศึกษาว่าการใช้กลุ่มช่วยเหลือตนเองนั้นมีผลต่อความสามารถในการดูแลตนเองของผู้ป่วยจิตเวชอย่างไร ซึ่งผู้วิจัยเชื่อว่าการพัฒนาความสามารถในการดูแลตนเองที่ดีจะส่งผลให้ ผู้ป่วยจิตเวชดำรงชีวิตอยู่ท่ามกลางความเจ็บป่วยได้เป็นอย่างดี

Keywords: พฤติกรรม ผู้ป่วยจิตเวช การดูแลตนเอง การพยาบาล..จิตเวช...กลุ่มบำบัด.......กลุ่มช่วยเหลือตนเอง การพยาบาลจิตเวช psychiatry behavior self health care group

ปีที่เผยแพร่/Year: 2542

Address: สมาคมพยาบาลจิตเวชแห่งประเทศไทย

Code: 00089

ISSN/ISBN: 0857-4553

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อ: วารสารวิชาการ

Download: -