ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: สมทรง สุวรรณเลิศ

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาเรื่องการใช้บริการตรวจทางจิตวิทยาในประเทศไทย.

แหล่งที่มา/Source: วารสารชมรมนักจิตวิทยาคลินิก. ปีที่ 1, ฉบับที่ 2, 23 เมษายน 2513, หน้า 15-33.

รายละเอียด / Details:

จากการศึกษาเรื่องการใช้บริการตรวจทางจิตวิทยาในประเทศไทยโดยวิธีส่งแบบสอบถามไปยังจิตแพทย์ และประสาท แพทย์ที่ทำงานอยู่ในหน่วยงานทางจิตเวช ทุกแห่งที่มีนักจิตวิทยาคลีนิค ปรากฎว่าแพทย์ได้ให้ความร่วมมือในการตอบแบบสอบถามเป็นอย่างดี ดังจะเห็นได้จากแบบสอบถามที่ส่งกลับมาถึง 78% แพทย์ส่วนใหญ่ที่ตอบแบบสอบถามเป็นจิตแพทย์ และมีประสพการณ์ในการทำงานมานาน 8-15 ปี รองลงมาคือแพทย์ที่ทำงานมานาน 1-7 ปี และ 16 ปีขึ้นไปตามลำดับ จากการวินิจฉัย ข้อมูลเพื่อดูความแตกต่าง ในทัศนคติต่อการตรวจทางจิตวิทยาของแพทย์ แต่ละกลุ่มที่มีประสพการณ์ในการทำงานในระยะเวลาไม่เท่ากันพบว่าไม่มีความแตกต่างกัน แพทย์ส่วนใหญ่มีความเห็นคล้ายคลึงกัน ยกเว้นในคำถามที่เกี่ยวกับความมากน้อยในการใช้การตรวจทางจิตวิทยาข้อมูลที่ได้จากแบบสอบถามทั้งหมดแสดงว่า 1. แพทย์ส่วนใหญ่แสดงทัศนคติต่อการตรวจทางจิตวิทยาว่าเป็นส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญมากในการศึกษาคนไข้ เป็นการตรวจที่มีประโยชน์เท่าๆ กับผลการตรวจของแพทย์เอง และช่วยในการตัดสินใจของแพทย์เกี่ยวกับคนไข้มากกว่า 50% สำหรับความมากน้อยในการใช้การตรวจทางจิตวิทยานั้นแพทย์ที่มีประสพการณ์ในการทำงานทางจิตเวชตั้งแต่ 16 ปี ขึ้นไป ใช้มากที่สุด รองลงมาคือ แพทย์ที่ทำงาน 8-15 ปี และแพทย์ที่ทำงาน 1-7 ปี ใช้น้อยที่สุด แต่ถ้านักจิตวิทยาได้มีการเปลี่ยนแปลงการเขียนรายงานตามที่แพทย์ต้องการแล้ว แพทย์จะใช้การตรวจทางจิตวิทยาในการวางแผนเกี่ยวกับคนไข้เพิ่มขึ้น ยกเว้นแพทย์ที่ทำงาน 1-7 ปี ซึ่งมีจำนวนเกือบครึ่งที่ไม่แสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ 2. แพทย์ส่วนใหญ่ใช้ผลการตรวจทางจิตวิทยาเพื่อประโยชน์ในด้านการวินิจฉัยและวางแนวการรักษา ข้อมูลที่แพทย์สนใจและคิดว่าสำคัญที่สุดในการศึกษาและวางแผนเกี่ยวกับคนไข้ คือ dynamics ระดับเชาว์ปัญญา และข้อความที่บ่งถึงการวินิจฉัย ส่วนประวัติการเจริญเติบโตและข้อมูลอื่นจากการสัมภาษณ์ของนักจิตวิทยาเป็นสิ่งที่แพทย์สนใจน้อยกว่าเรื่องอื่นๆ และแพทย์ส่วนใหญ่คิดว่าการตรวจทางจิตวิทยามีประโยชน์บ่อยมากในการช่วยวินิจฉัยโรคทางสมอง 3. แพทย์ส่วนใหญ่มีความเห็นว่าการเขียนรายงานที่นักจิตวิทยาทำอยู่ดีแล้วไม่ต้องมีการเปลี่ยนแปลง การส่งผลการตรวจทางจิตวิทยาเร็วพอใช้ และแพทย์ส่วนใหญ่ต้องการใช้ผลการตรวจด้านนี้ในการตัดสินใจในด้านอื่นๆ มากกว่าที่ได้รับอยู่ สำหรับข้อเสนอแนะในเรื่องที่ว่า หากนักจิตวิทยาจะได้มีการเปลี่ยนแปลงการเขียนรายงานกันบ้าง แพทย์ส่วนใหญ่เห็นว่านักจิตวิทยาควรเขียนรายงานโดยเน้นเกี่ยวกับปัญหาเฉพาะที่คนไข้มี และเสนอแนะวิธีวางแนวการรักษา การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนไข้ในอนาคต dynamics ของปัญหาคนไข้ และให้เน้นปัญหาที่แพทย์ถามและอธิบายโดยละเอียด

Keywords: บริการตรวจทางจิตวิทยา, จิตวิทยา, จิตวิทยาคลินิก, การวินิจฉัยทางจิตวิทยา

ปีที่เผยแพร่/Year: 2513

Address: นักจิตวิทยา, แผนกสุขวิทยา กองโรงพยาบาลโรคจิต.

Code: 00832

ISSN/ISBN: 0125-1422

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: สรุป รายงานวิจัย: วารสารวิชาการ

Download: -