ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: สุพัตรา ทองคุณ และคณะ

ชื่อเรื่อง/Title: องค์ความรู้ภูมิปัญญาอีสาน: ความเชื่อ พิธีกรรมในการช่วยเหลือผู้มีปัญหาสุขภาพจิตและญาติ

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 13, 25-27 สิงหาคม 2547, ณ โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ กรุงเพฯ, หน้า 118.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล ความเชื่อเกี่ยวกับการเจ็บป่วยทางจิต มีความสำคัญต่อการแสวงหาบริการสุขภาพ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสาน ซึ่งมีความเชื่อเกี่ยวกับการเจ็บป่วยทางจิตว่าเกิดจากอำนาจเหนือธรรมชาติ ดังนั้นเมื่อเกิดการเจ็บป่วยจะไปบำบัดรักษากับผู้รักษาพื้นบ้านเป็นแหล่งแรก และหลายคนยังใช้ควบคู่กันกับการรักษาแผนปัจจุบัน ผู้วิจัยจึงสนใจที่จะศึกษาองค์ความรู้ภูมิปัญญาอีสาน ที่ใช้ในการช่วยเหลือผู้มีปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการนำความรู้มาใช้ในการช่วยเหลือผู้มีปัญหาสุขภาพจิตและจิตเวชในชุมชนต่อไป วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาองค์ความรู้เกี่ยวกับความเชื่อ วิธีการและผลการรักษาที่ผู้รักษาพื้นบ้านใช้ในการช่วยเหลือผู้มีปัญหาสุขภาพจิต ขอบเขตการวิจัย ศึกษาเฉพาะกรณีจังหวัดนครพนม ระเบียบวิธี เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ ผู้เข้าร่วมศึกษาเป็นผู้รักษาพื้นบ้าน จำนวน 7 ราย เลือกกลุ่มตัวอย่างแบบ snow ball เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ใช้แบบสัมภาษณ์เชิงลึกแบบไม่มีโครงสร้าง เก็บรวบรวมข้อมูล โดยการสัมภาษณ์เชิงลึกและการสังเกตอย่างมีส่วนร่วม วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหา ผลการวิจัย ความเชื่อเกี่ยวกับการเจ็บป่วยทางจิตตามมุมมองของผู้ให้บริการพื้นบ้านพบว่า เกิดจากกรรมพันธุ์ อำนาจเหนือธรรมชาติ เวรกรรม ความไม่สมดุลกันของธาตุทั้ง 4 ในร่างกาย ความเครียดและการใช้สารเสพติด วิธีการที่ผู้รักษาพื้นบ้านใช้เป็นพิธีสูตรถอด สวดแก้อาถรรพ์ชีวิต สวดตั้งธาตุ สวดเป็นสวดตาย พิธีเหยา การรดน้ำมนต์ และพิธีไล่ผี ผลการรักษาพบว่า ไม่เป็นอันตรายต่อผู้ป่วย ค่าใช้จ่ายต่ำ ตามศรัทธา สามารถช่วยเหลือผู้มีปัญหาสุขภาพจิตและญาติในด้านความสบายใจที่ได้รักษาทุกทาง อาการทุเลาในกลุ่มผู้มีอาการเครียด วิตกกังวล หงุดหงิดง่าย นอนไม่หลับ ส่วนกลุ่มอาการที่เป็นโรคจิตพบว่าผู้รักษาจะแนะนำให้รักษาควบคู่กับการแพทย์แผนปัจจุบันที่โรงพยาบาล ข้อเสนอแนะ พิธีกรรมที่ใช้ในการช่วยเหลือผู้มีปัญหาสุขภาพจิตตามภูมิปัญญาอีสาน เป็นวิธีการที่ใช้ความศรัทธาของคนในชุมชน ในการดูแลตนเองและดูแลกันเอง ซึ่งหากนำมาผสมผสานกับการดูแลผู้ป่วยในชุมชน โดยใช้ประโยชน์จากความศรัทธาดังกล่าว เช่น การประเมินอาการระยะเริ่มต้น การขอความร่วมมือในการส่งต่อเพื่อฟื้นฟูจิตใจในชุมชน การให้คำแนะนำผู้ป่วยและญาติในการปฏิบัติตัวที่เหมาะสม จะสามารถช่วยเหลือให้ผู้มีปัญหาสุขภาพจิตมีทางเลือกในการรับบริการ และช่วยส่งเสริมสุขภาพจิตให้ผู้ป่วยและญาติเกิดความสบายใจ เพิ่มความร่วมมือในการรักษาและดำรงชีวิตอยู่ในชุมชนได้ตามอัตภาพอย่างยาวนานขึ้น.

Keywords: ปัญหาสุขภาพจิต, ภูมิปัญญาอีสาน, อีสาน, ความเชื่อ, การเจ็บป่วยทางจิต, จิตเวชชุมชน

ปีที่เผยแพร่/Year: 2547

Address: โรงพยาบาลจิตเวชนครพนมราชนครินทร์

Code: 1000104

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในเวทีประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิตนานาชาติประจำปี 2547 สุขภาพจิตกับยาเสพติด

Download: -