ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: รินทร ณะวิชัย และคณะ

ชื่อเรื่อง/Title: การใช้ดนตรีพื้นบ้านล้านนา วงสะล้อ-ซึงในการปรับพฤติกรรมนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 13, 25-27 สิงหาคม 2547, ณ โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ กรุงเพฯ, หน้า 119-120.

รายละเอียด / Details:

นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 อยู่ในช่วงวัยรุ่นตอนต้น ซึ่งเป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคม การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอาจทำให้วัยรุ่นเกิดความเครียดจนกระทั่งกลายเป็นปัญหาพฤติกรรมในวัยเรียนได้ หากขาดการช่วยเหลือดูแลจิตใจอย่างเหมาะสมจากผู้เกี่ยวข้อง ดนตรีพื้นบ้านเป็นทางเลือกหนึ่งที่สำคัญในการช่วยเหลือคลายเครียด ช่วยกล่อมเกลาจิตใจ และช่วยปรับพฤติกรรมผู้เรียนให้เป็นไปในทางที่พึงประสงค์ได้ โดยแทรกแนวคิดทักษะชีวิตและการศึกษาเพื่อสร้างพลังเข้าไปในกระบวนการเรียนการสอน การศึกษาวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินผลประสิทธิภาพของแผนการเรียนดนตรีพื้นบ้านล้านนา วงสะล้อ-ซึง ตามทักษะกระบวนการ 9 ประการของเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และเพื่อเปรียบเทียบพฤติกรรมเด็กนักเรียนก่อนและหลังการเรียนดนตรีพื้นบ้านล้านนา วงสะล้อ-ซึง กลุ่มตัวอย่างทีใช้ในการวิจัย คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนบ้านหนองไคร้ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ในช่วงการศึกษา 2546 จำนวน 56 คน ผู้วิจัยเลือกกลุ่มตัวอย่างจากการเปิดรับสมัครผู้สนใจเข้าเรียนดนตรีพื้นบ้านล้านนา วงสะล้อ-ซึง หลังเลิกเรียน โดยให้นักเรียนที่สมัครเรียนเข้าเรียนรุ่นที่ 1 (เดือนมิถุนายน 2546-เดือนสิงหาคม 2546) จำนวน 31 คน เป็นกลุ่มทดลองและให้นักเรียนที่สมัครเข้าเรียนรุ่นที่ 2 (เดือนพฤศจิกายน 2546-เดือนมกราคม 2547) จำนวน 25 คน เป็นกลุ่มควบคุม เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ครั้งนี้ประกอบด้วย 3 ส่วนคือ 1. แผนการสอนดนตรีพื้นบ้านล้านนา วงสะล้อ-ซึง ตามทักษะกระบวนการ 9 ประการ ของยุพิน มูลสืบ (2536) 2. แบบประเมินพฤติกรรมเด็ก ที่กรมสุขภาพจิตพัฒนาจาก The strengths and difficulties questionnaire สำหรับครู และสำหรับเด็กประเมินตนเอง 3. แบบทดสอบด้านความรู้ ทัศนคติ และทักษะที่เกี่ยวกับดนตรีพื้นบ้านล้านนา วงสะล้อ-ซึง ซึ่งเป็นแบบทดสอบที่ผู้วิจัยได้สร้างขึ้นและนำไปให้ผู้ทรงคุณวุฒิตรวจแก้ไขด้านความแม่นตรงของเนื้อหา มีค่าความเชื่อมั่น โดยรวมเท่ากับ 0.82 การวิจัยครั้งนี้ใช้แผนการวิจัยแบบกึ่งทดสอบ (Quasi-experimental research) ชนิดที่มีกลุ่มทดลอง-กลุ่มควบคุมที่ไม่ได้จากการสุ่ม มีการสอบก่อน-สอบหลัง (Nonrandomized control-group pretest-posttest design) วิเคราะห์ข้อมูลนามบัญญัติโดยใช้สถิติไคสแควร์ (chi-square) และเปรียบเทียบผลต่างของคะแนนจากแบบประเมินต่างๆ โดยใช้สถิติน็อนพาราเมตริก(Nonparametric Statistics) ผลการวิจัยพบว่า 1. การสอนดนตรีพื้นบ้านล้านนา วงสะล้อ-ซึง ตามแนวคิดทักษะกระบวนการ 9 ประการ มีประสิทธิภาพในการเพิ่มความรู้ ทักษะ และทัศนคติเกี่ยวกับดนตรี พื้นบ้านล้านนา วงสะล้อ-ซึง ให้แก่ผู้เรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 2.หลังจากเรียนดนตรีพื้นบ้านล้านนา วงสะล้อ-ซึง ครบ 3 เดือน นักเรียนกลุ่มตัวอย่างมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปในทางที่พึงประสงค์ โดยนำจำนวนนักเรียนกลุ่มเสี่ยง/มีปัญหาลดลง และนักเรียนมีพฤติกรรมที่เป็นจุดแกร่งในด้านสัมพันธภาพทางสังคมเพิ่มขึ้น และทั้งนี้กลุ่มทดลองที่ได้เรียนดนตรีพื้นบ้านล้านนา วงสะล้อ-ซึง มีพฤติกรรมด้านอารมณ์ พฤติกรรมเกเร พฤติกรรมอยู่ไม่นิ่ง พฤติกรรมด้านความสัมพันธ์กับเพื่อน และพฤติกรรมด้านสัมพันธภาพทางสังคม เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นจนแตกต่างจากกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้เรียนดนตรีพื้นบ้านล้านนา วงสะล้อ-ซึง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 จากผลการวิจัยที่ได้ แสดงให้เห็นว่านอกจากการมีความรู้ มีทัศนคติที่ดี และมีทักษะเพิ่มขึ้นแล้ว การเรียนดนตรีพื้นบ้านล้านนา วงสะล้อ-ซึง ยังมีส่วนช่วยให้ผู้เรียนมีพฤติกรรมที่ดีขึ้น โดยเห็นได้อย่างชัดเจนในด้านอารมณ์ ที่ถูกกล่อมเกลาให้อ่อนโยนละเมียดละไม นำไปสู่ความคิดและพฤติกรรมที่ดีขึ้นตามไปด้วย ซึ่งผู้สนใจสามารถนำผลการวิจัยครั้งนี้เป็นข้อมูลประกอบการวางแผนดูแลช่วยเหลือและส่งเสริมพฤติกรรมที่พึงประสงค์ให้แก่เด็กวัยเรียนได้ต่อไป.

Keywords: การปรับพฤติกรรมนักเรียน, พฤติกรรม, วัยรุ่น, ดนตรีพื้นบ้าน, สะล้อ ซึง, สุขภาพจิต, เด็กนักเรียน, จิตวิทยา

ปีที่เผยแพร่/Year: 2547

Address: โรงเรียนบ้านหนองไคร้ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่

Code: 1000105

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในเวทีประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิตนานาชาติประจำปี 2547 สุขภาพจิตกับยาเสพติด

Download: -