ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: รจนา กุลรัตน์

ชื่อเรื่อง/Title: ความรู้ เจตคติ และการปฏิบัติในการครองชีวิตคู่ของสตรีไทย

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 13, 25-27 สิงหาคม 2547, ณ โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ กรุงเพฯ, หน้า 124-125.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล การทำวิจัยเรื่องความรู้ เจตคติ และการปฏิบัติในการครองชีวิตคู่ของสตรีไทย จะทำให้ทราบข้อมูลว่า ในปัจจุบันนี้สตรีไทยมีความรู้ เจตคติ และการปฏิบัติในการครองชีวิตคู่เป็นอย่างไร เพื่อการวางแผนดำเนินการจัดบริการที่เหมาะสมต่อไป วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาความรู้ เจตคติ และการปฏิบัติในการครองชีวิตคู่ของสตรีไทยในยุคปัจจุบันว่าเป็นอย่างไร เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างอายุ การศึกษา อาชีพ ผู้มีปัญหากับผู้ไม่มีปัญหา กับความรู้ เจตคติ และการปฏิบัติในการครองชีวิตคู่ เพื่อหาสมการเพื่อทำนาย การปฏิบัติในการครองชีวิตคู่ จากปัจจัยด้านอายุ ระดับการศึกษา รายได้ ปัญหาในการครองชีวิต ความรู้เกี่ยวกับการครองชีวิตคู่และเจตคติต่อการครองชีวิตคู่ของสตรีไทย ขอบเขตการวิจัย เป็นการศึกษาความรู้ เจตคติ และการปฏิบัติในการครองชีวิตคู่ของสตรีไทยในปัจจุบัน โดยเก็บข้อมูลในกลุ่มสตรีไทยที่สมรสแล้ว และยังอยู่กินกับสามี ทำการเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 5 กุมภาพันธ์-30 มีนาคม 2547 ระเบียบวิธีการวิจัย ขนาดของกลุ่มตัวอย่าง 413 คน เก็นการสุ่มตัวอย่างแบบบังเอิญ (Accidental sampling) ตัวแปรที่ใช้ในการวิจัย ตัวแปรอิสระ ได้แก่ อายุ การศึกษา อาชีพ ผู้มีปัญหากับผู้ไม่มีปัญหา ตัวแปรตาม ได้แก่ ความรู้ เจตคติ และการปฏิบัติในการครองชีวิตคู่ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย เป็นแบบสอบถามที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น ประกอบด้วย 4 ส่วน ได้แก่ ข้อมูลทั่วไป ความรู้เกี่ยวกับชีวิตคู่ เจตคติต่อการครองชีวิตคู่ และการปฏิบัติในการครองชีวิตคู่ เก็บรวบรวมข้อมูลโดยผู้วิจัยประกาศทางสื่อมวลชน เชิญชวนสตรีที่ครองชีวิตคู่เข้าร่วมโครงการ โดยมีหนังสือเกี่ยวกับการครองชีวิตคู่ให้เป็นการตอบแทน เมื่อมีผู้ติดต่อเข้ามา ผู้วิจัยได้จดชื่อ ที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์ไว้ แล้วส่งแบบสอบถามไปให้ตอบทางไปรษณีย์ วิเคราะห์ข้อมูล โดยใช้สถิติร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว หรือ F test, t-test หาค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์โดยวิธีการ Pearson product moment correlation และวิเคราะห์ความถดถอยเชิงพหุคูณ (Multiple Regression) สรุปผลการวิจัย กลุ่มตัวอย่างส่วนมากอายุ 40 ปีขึ้นไป มีร้อยละ 45.86 การศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป ร้อยละ 45.04 ประกอบ อาชีพเป็นข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 42.37 มีรายได้ต่อเดือนอยู่ในช่วง 10,001.20,000 บา ร้อยละ 31.72 ส่วนมากมีปัญหาในการครองชีวิตคู่ ร้อยละ 66.10 และ ลักษณะปัญหาที่มีมากที่สุดได้แก่ มีความขัดแย้งไม่เข้าใจกันในเรื่องต่างๆ ร้อยละ 54.72 รองลงมาคือปัญหาการถูกนอกใจ ร้อยละ 9.69 ในภาพรวมคะแนนความรู้ เจตคติและการปฏิบัติในการครองชีวิตคู่อยู่ในเกณฑ์ดี แต่ในรายข้อย่อยยังมีข้อที่ควรพัฒนา อายุที่ต่างกัน มีความรู้ เจตคติ และการปฏิบัติไม่แตกต่างกัน การศึกษาที่ต่างกัน มีความรู้เกี่ยวกับการครองชีวิตคู่ และเจตคติที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ .01 และมีการปฏิบัติที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ .05 อาชีพที่ต่างกัน มีความรู้เกี่ยวกับการครองชีวิตคู่ เจตคติ และการปฏิบัติที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ .01 ผู้มีปัญหากับผู้ไม่มีปัญหา มีความรู้เกี่ยวกับการครองชีวิตคู่ที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ .01 มีเจตคติที่มีแนวโน้มว่าจะแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ .05 (t=1.95) และมีการปฏิบัติที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ .01 พบว่าการปฏิบัติมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับระดับการศึกษา ความรู้เกี่ยวกับการครองชีวิตคู่ และเจตคติต่อการครองชีวิตคู่ แต่มีความสัมพันธ์เชิงลบกับปัญหาในการครองชีวิตคู่ และจากสมการการทำนายพบว่า การปฏิบัติเกิดขึ้นจากความรู้ เจตคติ และปัญหาในการครองชีวิตคู่ ร้อยละ 17.20. ข้อเสนอแนะ ควรให้ความรู้และการปรึกษาในหัวข้อต่างๆ ที่ยังต้องมีการพัฒนาในการครองชีวิตคู่ ถ้าต้องการให้การปฏิบัติในการครองชีวิตคู่ดี จำเป็นต้องเพิ่มที่ระดับการศึกษา และความรู้เกี่ยวกับการครองชีวิตคู่ รวมถึงเจตคติต่อการครองชีวิตคู่ให้มากขึ้น และลดปัญหาในการครองชีวิตคู่ให้ได้ โดยกระทรวงสาธารณสุขควรจัดให้มีการให้ความรู้และการปรึกษาแก่ประชาชน และมีข้อเสนอแนะว่าน่าจะหาตัวแปรอื่นที่รับผิดชอบต่อการปฏิบัติให้มากขึ้นด้วย

Keywords: ความรู้ เจตคติ ชีวิตคู่ สตรีไทย, จิตวิทยา, ทัศนคติ, สุขภาพจิต, ครอบครัว

ปีที่เผยแพร่/Year: 2547

Address: โรงพยาบาลสวนสราญรมย์(ปัจจุบันช่วยราชการที่สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา)

Code: 1000108

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในเวทีประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิตนานาชาติประจำปี 2547 สุขภาพจิตกับยาเสพติด

Download: -