ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ และคณะ

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษารูปแบบการส่งเสริมป้องกันปัญหาสุขภาพจิตในชุมชน

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 13, 25-27 สิงหาคม 2547, ณ โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ กรุงเพฯ, หน้า 130-131.

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษารูปแบบการส่งเสริมป้องกันปัญหาสุขภาพจิตในชุมชน และศึกษาผลการดำเนินงานการส่งเสริมป้องกันปัญหาสุขภาพจิตในชุมชน ในพื้นที่ที่ดำเนินการ ขอบเขตการศึกษา ศึกษากลุ่มตัวอย่าง 2 กลุ่ม คือ ผู้นำชุมชน และแกนนำครอบครัว (ผู้ที่ดำเนินการคัดกรองแล้วว่ามีความเครียด) ที่อาศัยอยู่ ณ ตำบลบ้านดง อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น และตำบลโนนหอม อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ระเบียบวิธีวิจัย เป็นการวิจัยและพัฒนา (Research and development) แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ส่วนคือ 1. สำรวจผู้มีปัญหาสุขภาพจิต คัดเลือกตำบลที่เข้าร่วมโครงการ 1.1 ประสานงานกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และผู้บริหารงานสาธารณสุขจังหวัด เครือข่ายผู้ปฏิบัติงานสุขภาพระดับจังหวัด เพื่อชี้แจงโครงการ แผนการดำเนินการ 1.2 ประชุมชี้แจงเครือข่ายระดับอำเภอ ตำบล แกนนำชุมชน ที่ถูกคัดเลือก ซึ่งแจงแผนการปฏิบัติงาน และร่วมกำหนดรูปแบบการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมโดยการทำ Focus group ในชุมชน สอบถามปัญหาความต้องการ และรูปแบบการดำเนินงาน เพื่อพัฒนาโครงการให้สอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่ 2. พัฒนารูปแบบการส่งเสริม ป้องกันปัญหาสุขภาพจิตในชุมชน โดย 2.1 วางแผนจัดทำคู่มือ แผนการอบรม แนวทางการดำเนินการ 2.2 ประสานงานกับเครือข่ายฯ โดยชี้แจงวัตถุประสงค์ให้เครือข่าย แกนนำชุมชน องค์กรเอกชน เพื่อให้ความร่วมมือ 2.3 จัดอบรม แกนนำชุมชน โดยการให้ความรู้ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความเครียด 2.4 ประชุมเพื่อประเมินผลหลังการอบรม 3 เดือน และ 6 เดือน จากแกนนำชุมชนในการค้นหาผู้ที่มีภาวะเครียดและการช่วยเหลือ 2.5 จัดอบรมแกนนำครอบครัว (ผู้ที่มีภาวะเครียด) ให้มีความรู้ในเรื่องที่เกี่ยวข้อง 2.6 ประชุมประเมินผลโครงการ ระยะเวลาในการศึกษา ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2546-30 กันยายน 2546 ผลการศึกษา 1. ได้แนวทางส่งเสริมการป้องกัน ปัญหาสุขภาพจิตในชุมชน คือ ผู้นำชุมชนค้นหาผู้ที่มีความเครียดด้วยแบบวัดความเครียดและให้การช่วยเหลือผู้ที่มีความเครียดอยู่ในระดับสูงกว่าปกติด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การค้นหาปัญหาที่ทำให้เครียด การแก้ปัญหาที่เหมาสะม การปรับเปลี่ยนความคิด การผ่อนคลายความเครียด เป็นต้น และมีการประเมินหลังจากให้การช่วยเหลือ ถ้าพบว่ายังมีความเครียดกว่าปกติ พิจารณาส่งไปพบเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพื่อให้การดูแลต่อไป 2. ผลการศึกษาพบว่า ผู้นำชุมชนที่เข้ารับการอบรมเป็น อสม. ร้อยละ 52.9 กำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน ร้อยละ 12.3 อบต. ร้อยละ 10.9 และประชาชนทั่วไป (ที่ชาวบ้านนับถือ)ร้อยละ 23.9 ส่วนใหญ่มีส่วนร่วมในการดูแลช่วยเหลือผู้ที่มีความเครียด ร้อยละ 89.1 จากการประเมินผลหลังการ อบรม 3 เดือน และ 6 เดือน ผู้นำชุมชนได้ประเมินผู้ที่เสี่ยงต่อการเกิดความเครียดพบว่า มีผู้ที่มีความเครียดปกติ ร้อยละ 59.1 (391 ราย) มี ความเครียดสูงกว่าปกติเล็กน้อย 26.8% (177 ราย) มีความเครียดสูงกว่าปกติปานกลาง 11.7% (77 ราย) และมีความเครียดสูงกว่าปกติมาก 2.4% (16 ราย) ได้ให้การช่วยเหลือเบื้องต้นและมีการส่งต่อไปพบเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เนื่องจากมีปัญหาซับซ้อนเกินความสามารถของผู้นำชุมชน จำนวน 15 ราย (ได้รับยา 11 ราย) จากการจัดอบรมให้ผู้ที่มีความเครียด จำนวน 81 คน ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ร้อยละ 86.4 มีอายุในช่วง 41-50 ปี ร้อยละ 35.8 จบการศึกษาระดับประถมศึกษา ร้อยละ 82.7 มีอาชีพเกษตรกรรม ร้อยละ 74.1 สาเหตุที่ทำให้เกิดความเครียด คือ ปัญหาครอบครัว ร้อยละ 44.5 ปัญหาเศรษฐกิจ ร้อยละ 43.6 ปัญหายาเสพติด ร้อยละ 10.9 และจากการติดตามประเมินผลหลังจากการอบรม 3 เดือน (เปรียบเทียบก่อนและหลังการอบรม) พบว่าระดับความเครียดของผู้ที่มีความเครียดลดลง คือ จำนวนผู้ที่มีความเครียดอยู่ในระดับปกติ มีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 51.1% เป็น 81.8% ผู้ที่มีความเครียดสูงกว่าปกติปานกลาง ลดลงจาก 7.8% เป็น 1.3% และสูงกว่าปกติมากลดลงจาก 2.6% เป็น 1.3% จากการศึกษาพบว่าผู้ที่มีความเครียด เมื่อมีวิธีการคลายเครียด ทำให้อารมณ์เย็นลงกว่าเดิม ร้อยละ 66.7.

Keywords: ปัญหาสุขภาพจิตในชุมชน, สุขภาพจิต, ผู้นำชุมชน, แกนนำครอบครัว, ความเครียด, ภาวะเครียด, แบบวัดความเครียด

ปีที่เผยแพร่/Year: 2547

Address: โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต

Code: 1000111

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในเวทีประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิตนานาชาติประจำปี 2547 สุขภาพจิตกับยาเสพติด

Download: -