ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: วีณา มิ่งเมือง

ชื่อเรื่อง/Title: ผลการศึกษาโปรแกรมกลุ่มตามแนวคิดพิจารณาเหตุผล อารมณ์ และพฤติกรรม ร่วมกับการฝึกอานาปานสติต่อความโกรธของวัยรุ่น

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 13, 25-27 สิงหาคม 2547, ณ โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ กรุงเทพฯ, หน้า 138.

รายละเอียด / Details:

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมกลุ่มตามแนวคิดพิจารณาเหตุผล อารมณ์ และพฤติกรรมร่วมกับการฝึกอานาปานสติต่อความโกรธของวัยรุ่น โดยมีสมมติฐานการวิจัยคือ 1. หลังการทดลองและระยะติดตามผล เยาวชนที่เข้าร่วมโปรแกรมกลุ่มตามแนวคิดพิจารณาเหตุผล อารมณ์ และพฤติกรรม ร่วมกับการฝึกอานาปานสติจะมีระดับคะแนนความโกรธทั่วไป การแสดงความโกรธออกภายนอกและการเก็บความโกรธไว้ภายในต่ำกว่าก่อนการทดลอง 2. หลังการทดลองและระยะติดตามผลเยาวชนที่เข้าร่วมโปรแกรมกลุ่มตามแนวคิดพิจารณาเหตุผล อารมณ์ และพฤติกรรมร่วมกับการฝึกอานาปานสติ จะมีคะแนนการควบคุมความโกรธสูงกว่าก่อนการทดลอง การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงทดลองแบบทดสอบก่อนและหลังการทดลองโดยไม่มีกลุ่มควบคุม (Pretest-Posttest with no control group) กลุ่มตัวอย่าง เป็นเยาวชนชายในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน มีอายุตั้งแต่ 14 ปีขึ้นไป แต่ไม่เกิน 18 ปีบริบูรณ์ ซึ่งมีคะแนนจากแบบวัดความโกรธและการแสดงความโกรธในมาตรวัดความโกรธแบบลักษณะ มาตรการแสดงความโกรธออกภายนอก และการเก็บความโกรธไว้ภายในสูงกว่าเปอร์เซนไทล์ที่ 75 และ มีคะแนนในมาตรการควบคุมความโกรธต่ำกว่าเปอร์เซนไทล์ที่ 25 จำนวน 10 คน เป็นกลุ่มทดลองโดยเข้าร่วมโปรแกรมกลุ่มตามแนวคิดพิจารณาเหตุผล อารมณ์ และพฤติกรรมร่วมกับการฝึกอานาปานสติเป็นเวลา 6 สัปดาห์ต่อเนื่อง สัปดาห์ละ 2 ครั้ง ครั้งละ 1 1/2-2 ชั่วโมง รวม 21 ชั่วโมง โดยมีผู้วิจัยเป็นผู้นำกลุ่ม เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือแบบวัดประสบการณ์ความโกรธและการแสดงความโกรธพัฒนาโดยทัศไนย วงศฺสุวรรณ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการทดสอบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยคะแนนความโกรธแบบลักษณะการแสดงความโกรธออกภายนอก การเก็บความโกรธไว้ภายใน และคะแนนการควบคุมความโกรธ ด้วยการทดสอบค่าที่ (t-test) ผลการวิจัยพบว่า 1. หลังการทดลองและระยะติดตามผล เยาวชนที่เข้าร่วมโปรแกรมกลุ่มตามแนวคิดพิจารณาเหตุผล อารมณ์ และพฤติกรรมร่วมกับการฝึกอานาปานสติมีคะแนนความโกรธโดยทั่วไป การแสดงความโกรธออกภายนอก และการเก็บความโกรธไว้ภายในต่ำกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 2. หลังการทดลองและระยะติดตามผล เยาวชนที่เข้าร่วมโปรแกรมกลุ่มตามแนวคิดพิจารณาเหตุผล อารมณ์ และพฤติกรรม ร่วมกับการฝึกอานาปานสติ มีคะแนนการควบคุมความโกรธสูงกว่าก่อนการทดลอง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05. ข้อเสนอแนะ หากมีการศึกษาเกี่ยวกับแนวคิดพิจารณาเหตุผล อารมณ์ และพฤติกรรม ร่วมกับการฝึกอานาปานสติต่อความโกรธของวัยรุ่น ควรมีการติดตามผลในระยะยาว เพื่อดูประสิทธิภาพของแนวคิดเหล่านี้ว่าคงอยู่ได้นานเพียงใด และเพื่อเป็นข้อมูลในการพัฒนาโปรแกรมการลดอารมณ์โกรธของวัยรุ่นได้อย่างถาวร

Keywords: โปรแกรมกลุ่ม, อารมณ์, พฤติกรรม, การฝึกอานาปานสติ, ความโกรธ, วัยรุ่น, สุขภาพจิต, จิตวิทยา, เยาวชน

ปีที่เผยแพร่/Year: 2547

Address: ศูนย์สุขภาพจิตที่ 11 กรมสุขภาพจิต

Code: 1000112

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในเวทีประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิตนานาชาติประจำปี 2547 สุขภาพจิตกับยาเสพติด

Download: -