ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ และคณะ

ชื่อเรื่อง/Title: ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการทำร้ายตนเองในประเทศไทย

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 13, 25-27 สิงหาคม 2547, ณ โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ กรุงเทพฯ, หน้า 139-140.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล การศึกษาระบาดวิทยาของพฤติกรรมการทำร้ายตนเองและการฆ่าตัวตายปี พ.ศ. 2544 โดยกรมสุขภาพจิตพบว่ามีอัตราการทำร้ายตนเองเท่ากับ 51.5 ต่อประชากรแสนคน (95%CI=49.5-53.9) และอัตราการทำร้ายตนเองมากกว่า 1 ครั้งเท่ากับ 5.5 ต่อประชากรแสนคน (95%CI=4.4-5.8) นอกจากนั้นการทำร้ายตนเองก่อให้เกิดความสูญเสียแก่สังคมและประเทศชาติเป็นอย่างมาก ทั้งยังมีผลกระทบต่อสุขภาพจิตและคุณภาพชีวิตของคนในครอบครัวเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นเพื่อให้ได้มาซึ่งองค์ความรู้เกี่ยวกับสาเหตุธรรมชาติของการทำร้ายตนเอง พร้อมทั้งหาแนวทางพัฒนาเครื่องมือในการค้นหา เตือนภัยล่วงหน้า หาวิธีและมาตรการต่างๆ ในการควบคุมป้องกันที่มีประสิทธิภาพ กรมสุขภาพจิต จึงดำเนินการวิจัยปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการทำร้ายตนเองในประเทศไทย วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำร้ายตนเองและเปรียบเทียบความแตกต่างของปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการทำร้ายตนเองในกลุ่มศึกษา และกลุ่มควบคุม ระเบียบวิธีวิจัย เป็นการวิจัยเชิงวิเคราะห์ (Analytic Research) แบบศึกษาย้อนหลังจากผลไปหาเหตุ (Retrospective หรือ Case-Control Study) ของผู้ที่มารับบริการจากโรงพยาบาลฝ่ายกาย 12 เขต รวมกรุงเทพฯทั้งสิ้น 25 โรงพยาบาล จำนวน 472 คน โดยเป็นผู้ที่พยายามทำร้ายตนเองแต่ไม่เสียชีวิต (Case Group) จำนวน 236 คน เปรียบเทียบกับผู้ป่วยด้วยโรคอื่นๆ (Control Group) จำนวน 472 คน การศึกษาครั้งนี้เป็นกลุ่มที่หายากไม่สามารถกำหนดล่วงหน้าว่าจะเกิดกลุ่มศึกษาเมื่อใด ทั้งยังมักไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้ป่วย และญาติ จึงต้องใช้วิธีเลือกตัวอย่างแบบเจาะจง (Purposive sampling) แต่เพื่อลดการเกิดอคติ จึงใช้ขนาดกลุ่มควบคุมเป็น 2 เท่ากลุ่มศึกษาโดยคัดกลุ่มควบคุมและกลุ่มศึกษาไปพร้อมๆ กัน จากแหล่งประชากรเดียวกัน โดยมีเพศ อายุ และภูมิลำเนาใกล้เคียงกัน เครื่องมือที่ใช้ คณะทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากคณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี และนักวิชาการของกรมสุขภาพจิตร่วมกันพัฒนาแบบสัมภาษณ์ พร้อมทั้งใช้ร่วมกับแบบสำรวจสุขภาพจิตสำหรับคนไทย (TMHQ) ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราช ในการวิเคราะห์ข้อมูลใช้ความเสี่ยงสัมพันธ์ (odd ratio) และการวิเคราะห์การถดถอยพหุแบบลอจิสติกในการวิเคราะห์ตัวแปรเชิงเดี่ยวและตัวแปรเชิงซ้อน ผลการวิจัย พบว่า จากจำนวนที่ศึกษาทั้งสิ้น 708 คน เป็นกลุ่มพยายามทำร้ายตนเอง (case group) 236 คน (33.3%) เป็นกลุ่มเจ็บป่วยด้วยโรคอื่น (control group) 472 คน (66.7 %) เมื่อวิเคราะห์หาความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ กับการพยายามทำร้ายตนเอง ได้แก่ การมีการบาดเจ็บทางศีรษะ การเจ็บป่วยทางจิต ผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า ผู้ที่ใช้ยา/แอลกอฮอล์ ผู้มีประวัติทางพันธุกรรม มีความเสี่ยง 1.954,2.346,17.555,1.950 และ 3.697 เท่าของกลุ่มอื่นๆ ที่ p‹0.05 ตามลำดับ ในด้านปัจจัยทางจิตวิทยาพบว่า ผู้ที่มีบุคลิกภาพ Type B (Temperamental) ผู้ที่มีความสัมพันธ์ไม่ปกติกับทางศาสนา เพื่อนร่วมชั้นเรียน ชุมชน/เพื่อบ้าน ผู้ไม่มีญาติหรือเพื่อนสนิท ผู้ที่ไม่ปรึกษาใครเวลามีปัญหา ผู้ไม่ปรึกษาใครในปัญหาที่นำไปสู่การทำร้ายตนเองมีความเสี่ยง 2.7, 1.434, 2.102, 1.50, 2.305, 3.648 และ 0.862 เท่าของกลุ่มอื่นที่ p<0.05 ตามลำดับ สำหรับด้านปัจจัยทางสังคมพบว่า กลุ่มนักบวช ผู้ที่อยู่ร่วมกับคู่สมรส ผู้ที่มีภาระรับผิดชอบผู้อื่น ผู้ที่ได้รับการเลี้ยงดูไม่ปกติในวัยเด็ก ผู้ที่ในวัยเด็กมีผู้ปกครองที่มีความสัมพันธ์ไม่ราบรื่น ผู้ที่มีความสัมพันธ์กับคู่สมรสไม่ราบรื่น และผู้ที่มีระดับการศึกษา ปวส./อนุปริญญา มีความเสี่ยง 0.240,0.598,0.606,2.096,2.816,9.086 และ 3.00 เท่าของกลุ่มอื่นที่ p<0.05 ตามลำดับ เมื่อใช้ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยต่างๆ กับการพยายามทำร้ายตนเอง โดยการวิเคราะห์การถดถอยพหุแบบลอจิสติก พบว่าผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า ผู้ที่ใช้ยา /แอลกอฮอล์ ผู้ที่มีความสัมพันธ์กับคู่สมรสไม่ราบรื่น และผู้ที่มีผลการเรียนในวัยเด็กในระดับปานกลางมีความเสี่ยงต่อการทำร้ายตนเองอย่างมีนัยสำคัญ p<0.05. ข้อเสนอแนะ ควรมีการรณรงค์ในการสร้างสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน มุ่งลดปัญหาความขัดแย้งตั้งแต่หน่วยปฐมภูมิของสังคม คือครอบครัวจนถึงระดับชุมชน มีการเฝ้าระวังดูแลผู้ที่เคยทำร้ายตนเองอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมหลักสูตรการพัฒนาทักษะชีวิตในสถานศึกษา เผยแพร่เทคโนโลยีในการป้องกันการทำร้ายตนเองให้กับสถานบริการและชุมชน และมีการศึกษาทางระบาดวิทยาของปัญหาการทำร้ายตนเองอย่างต่อเนื่อง โดยใช้รูปแบบการศึกษาที่มีชุมชนเป็นฐาน (Community base study)

Keywords: ระบาดวิทยา, พฤติกรรมทำร้ายตนเอง, การฆ่าตัวตาย, กรมสุขภาพจิต, พฤติกรรม, ความชุก, จิตเวชศาสตร์, จิตเวช, ซึมเศร้า, ทำร้ายตนเอง, ปัญหาสุขภาพจิต

ปีที่เผยแพร่/Year: 2547

Address: กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 1000113

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในเวทีประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิตนานาชาติประจำปี 2547 สุขภาพจิตกับยาเสพติด

Download: -