ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: สุพานี เสมสุขกรี

ชื่อเรื่อง/Title: การให้คำปรึกษาเชิงจิตวิทยารายบุคคล/รายกลุ่ม เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้รับการคุ้มครอง ณ สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านเกร็ดตระการ

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 13, 25-27 สิงหาคม 2547, ณ โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ กรุงเทพฯ, หน้า 146.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล ปัญหาด้านสุขภาพจิตของประชากรไทย เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานาน และนับวันจะเพิ่มปริมาณผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือมากขึ้น เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงและขยายตัวอย่างรวดเร็วของสังคมที่เกิดภาวะในด้านเศรษฐกิจและอื่นๆ อันจะทำให้มนุษย์ต้องปรับตัวเผชิญปัญหาหลากหลายและรุนแรง สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านเกร็ดตระการ ได้ให้ความคุ้มครองหญิงที่มีบาดแผลทางใจที่ทำให้สูญเสียภาวะการทำหน้าที่ของชีวิตทั้งในด้านร่างกาย อารมณ์ สังคมและจิตใจ ทำให้ไม่สามารถปรับตัวเพื่อดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างปกติสุข ดังนั้น การให้คำปรึกษาที่ดี มีหลักการและเป็นระบบที่เหมาะสม จึงเป็นกระบวนการที่จะช่วยให้ผู้รับการคุ้มครองเหล่านั้น สามารถฟื้นฟูสภาพจิตใจ ปรับเปลี่ยนทัศนคติ ตลอดจนสร้างความรู้สึกที่ดีต่อตนเองทำให้มีความเข้มแข็ง สามารถใช้ชีวิตในสังคม และเผชิญปัญหาโดยมีทักษะการแก้ปัญหาที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล วัตถุประสงค์ 1. เพื่อประเมินปัญหาและสภาพจิตใจของหญิงผู้รับการคุ้มครองบ้านเกร็ดตระการ 2. เพื่อช่วยให้หญิงผู้รับการคุ้มครองบ้านเกร็ดตระการฝึกปฏิบัติการฟื้นฟูสภาพจิตใจ 3. เพื่อพัฒนากระบวนวิธีเฉพาะแต่ละบุคคลที่เหมาะสม กลุ่มเป้าหมาย ผู้รับการคุ้มครองหญิงไทยที่มีปัญหาสุขภาพจิต 22 คน เครื่องมือที่ใช้ แบบทดสอบมาตรฐาน 4 ชุด ดังต่อไปนี้ แบบวัดสุขภาพจิต (Thai-GHQ 28) มาตรวัดความพึงพอใจในชีวิต แบบวัดความสุขนักเรียนไทย และแบบวัดความรู้สึกมีคุณค่าในตัวเอง (RSES) การเก็บรวบรวมข้อมูล คัดเลือกผู้มีปัญหาสุขภาพจิตจากผู้มีประวัติป่วยทางจิตเวช และตรวจคัดกรองด้วย Thai-GHQ 28 ในกลุ่มทั่วไป จำนวน 104 คน ได้ผู้ที่มีปัญหา 41 คน แล้วสัมภาษณ์แยกกลุ่มที่มาอาการทางจิตเวชรุนแรงจนไม่สามารถเข้ากลุ่มฟื้นฟูสภาพจิตใจ เหลือกลุ่มเป้าหมายจำนวน 22 คน สรุปผลการศึกษา กลุ่มเป้าหมายที่ผ่านกระบวนการทุกคนสามารถพัฒนาตนเองทางบวก โดยเฉพาะความขัดแย้งในใจและภาพลักษณ์ที่ทำให้เกิดความสิ้นหวัง กระบวนการช่วยเหลือเน้นที่การสร้างกำลังใจ การชื่นชมเมื่อมีพฤติกรรมที่พึงประสงค์ และการฝึกทักษะเพื่อกลับไปสู่สังคม เมื่อสิ้นสุดกระบวนการให้คำปรึกษา พบว่าคะแนนจากแบบวัดทุกฉบับอยู่ในระดับที่ดีกว่าก่อนทุกคน ข้อเสนอแนะ มีประเด็นหลักคือ การสร้างระบบให้คำปรึกษาอย่างถาวรและต่อเนื่องแก่ทุกคนในบ้านเกร็ดตระการที่มีปัญหาสุขภาพจิต ประเด็นต่อมาคือ การทำวิจัยติดตามความก้าวหน้าในระยะยาว

Keywords: การให้คำปรึกษา, ปัญหาสุขภาพจิต, สุขภาพจิต, ปรึกษา, ฟื้นฟูสมรรถภาพ, จิตวิทยา, counseling

ปีที่เผยแพร่/Year: 2547

Address: ศูนย์พัฒนาสุขภาพจิตและบุคลิกภาพ ฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ

Code: 1000117

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในเวทีประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิตนานาชาติประจำปี 2547 สุขภาพจิตกับยาเสพติด

Download: -